เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ–บอลิคำไซ) กว่า 1,380 ล้านบาท และ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” อีกกว่า 700 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เปิดเผยว่า สำนักงานฯ จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับ “สปป. ลาว” ในรูปแบบของเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 พร้อมทั้งถนนและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว วงเงินรวมกว่า 1,380 ล้านบาท
ขณะที่ในฝั่งประเทศไทย กรมทางหลวงจะดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานที่ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเชื่อมกับ สปป. ลาว ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยใช้งบประมาณรวม 2,630 ล้านบาท
คาดว่าโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เพิ่มศักยภาพการค้าชายแดน ยกระดับการค้า การผลิตสินค้าการเกษตร และการท่องเที่ยว
ในส่วนของ เมียนมา สพพ. สนับสนุนเงินกู้วงเงินรวมเกือบ 780 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี ทั้งการปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ ลดความเสี่ยงจากสารเคมีในขยะที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาทิ พื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งน้ำ และอากาศของเมืองเมียวดีและริมแม่น้ำเมยของทั้งฝั่งไทยและเมียนมาให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว เมียนมาจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองฯ จากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 รวมถึงต้องใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาจากประเทศไทยเป็นหลักในการดำเนินโครงการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้าง ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในเมียนมา
คาดว่าจะดำเนินการโครงการพัฒนาเมืองเมียววดี จะแล้วเสร็จในปี 2568 และจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาห่วงโซ่การผลิตระหว่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากของไทย และเขตอุตสาหกรรมเมียวดีของเมียนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก ระยะที่ 3 ในพื้นที่ของประเทศเมียนมา ประกอบด้วย เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ เมืองผะอัน และเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง