“ยางพารา” พืชเศรษฐกิจของไทย อาจสูญเสียตลาดให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ถึงเวลาต้องปรับตัวให้ทันกับบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนไป
ผลการศึกษาและวิเคราะห์โดย “ณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์” และ “นราพร สังสะนา” ส่วนเศรษฐกิจภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าแม้ ไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 แต่กำลังเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย และเวียดนาม
ปัจจุบันมาเลเซีย ลดเนื้อที่ปลูกกว่าร้อยละ 18 เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนแรงงานที่สูง ขณะที่เวียดนามมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ได้ขยายเนื้อที่ปลูกกว่า 1.2 เท่า ส่วนไทยมีต้นทุนแรงงานสูงกว่าเวียดนามกว่า 1.1 เท่า แต่กลับมีการขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.7 เท่า เป็นปัจจัยที่สร้างความเสียเปรียบให้ยางพาราของไทย ที่ทำให้ขณะนี้มีราคาสูงสุดในโลก
ขณะที่ประเทศส่งออกสำคัญอย่างประเทศจีน ซึ่งไทยส่งออกมาถึงร้อยละ 65 (2556-61) ไม่ได้เป็นเป็นเพียงผู้ซื้อรายใหญ่ แต่ยังเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของโรงงานยางในไทยด้วย ส่งผลต่ออำนาจต่อรองในเรื่องราคา ซึ่งราคายางของไทยยังถูกกำหนดจากตลาดล่วงหน้าในจีน หากเศรษฐกิจจีนและคู่ค้ามีปัญหาก็จะส่งผลกระทบต่อไทยตามไปด้วย
แม้ภาครัฐจะพยายามช่วยเหลือโดยส่งเสริมราคาและกระตุ้นการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำเพียงร้อยละ 15 ในขณะที่มาเลเซียมีปริมาณการใช้ในประเทศถึงร้อยละ 85 ขณะที่เวียดนามมีปริมาณการใช้ร้อยละ 20
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับราคายางพาราที่สัมพันธ์กับราคาน้ำมัน เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางสังเคราะห์ แต่ปัจจุบันยางสังเคราะห์สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบอื่น เช่นก๊าซธรรมชาติ หรือ เชลออลย์ ทำให้การพึ่งพาน้ำมันน้อยลง ความสัมพันธ์ของราคาจึงลดลง
ในขณะที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถยางสังเคราะห์ที่มีคุณภาพเข้ามาทดแทนยางพารา ประกอบกับปริมาณยางพาราในตลาดโลกที่ยังมีผลผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อราคายางพารา ที่ในอนาคตจะไม่สูงเหมือนในอดีต
ส่วนเศรษฐกิจภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าจะต้องแก้ปัญหาราคายางพารา จะต้องแก้กันที่โครงสร้างในระยะยาว เช่น การลดเนื้อที่ปลูกที่ไม่เหมาะสม การเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร จึงจะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยยังอยู่รอดได้