พบแล้วชิ้นส่วนเรือไททัน ผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด
หน่วยยามฝั่งสหรัฐแถลงหลังจากส่งยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกล ลงไปค้นหาเรือดำน้ำไททัน ซึ่งขาดการติดต่อระหว่างดำลงไปชมซากเรือไททานิกในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) และพบเศษซากยานดำน้ำกระจัดกระจายใต้ท้องมหาสมุทรใกล้กับซากเรือไททานิก
หัวหน้าปฏิบัติการกู้ภัยและวิศวกรทางทะเล ระบุว่าเศษซากน่าจะเป็นผลมาจากการสูญเสียความดันอย่างรุนแรงในห้องโดยสารจนนำไปสู่การระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้โดยสารทั้ง 5 รายเสียชีวิต ส่วนเสียงเคาะหรือเสียงทุบที่ได้ยินระหว่างปฏิบัติการค้นหา ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน
สำหรับผู้โดยสารทั้ง 5 รายบนเรือดำน้ำไททัน ประกอบด้วย ฮามิช ฮาร์ดิง นักผจญภัยชาวอังกฤษวัย 58 ปีที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปอวกาศและขั้วโลกใต้หลายครั้ง, ชาซาดา ดาวูด นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกของหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของปากีสถาน, ซูเลมาน ดาวูด บุตรชายวัย 19 ปีของชาซาด, ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศสวัย 77 ปี ซึ่งมีประสบการณ์สำรวจซากเรือไททานิกมากกว่านักสำรวจคนอื่นๆ, สตอกตัน รัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอเชียนเกต เจ้าของเรือดำน้ำไททัน วัย 61 ปี
เผยภรรยาซีอีโอเรือดำน้ำไททัน เป็นทายาทผู้โดยสารไททานิก
มีรายงานข่าวว่าสตอกตัน รัช ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โอเชียนเกต เอกซ์เพดิชันส์ บริษัทที่ให้บริการท่องเที่ยวชมโลกใต้ทะเลลึก และเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงเรือดำน้ำไททันเพื่อสำรวจซากเรือไททานิก แต่งงานกับทายาทของผู้โดยสารที่เสียชีวิตเมื่อไททานิกล่มลงสู่ใต้ทะเลเมื่อปี 2455 โดยรัชแต่งงานกับเวนดี ซึ่งเป็นลูกของเหลนไอซิดอร์ และไอดา สตรอส ผู้โดยสารชั้น 1 ของเรือไททานิก ทั้งนี้ ไอซิดอร์เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าเมซีร่วมกับน้องชาย เรื่องราวของไอซิดอร์ถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์เรื่องไททานิกด้วย
สำหรับเวนดีนั้น ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารของโอเชียนเกต เอกซ์เพดิชันส์ และเคยลงไปชมซากเรือไททานิก 3 ครั้ง
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวด้วยว่าคริส บราวน์ เพื่อนของมหาเศรษฐี ฮามิช ฮาร์ดิง ผู้โดยสารที่ไปกับเรือไททัน เปิดเผยว่าเขาได้ยกเลิกการเดินทางดังกล่าว เพราะวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยและการออกแบบเรือ
“เวียนนา” ขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่สุดในโลก
อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต เผยการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ประจำปี 2566 พิจารณาจาก 5 ปัจจัยได้แก่ ความมีเสถียรภาพ การดูแลสุขภาพ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ปรากฏว่ากรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย ครองตำแหน่งเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกประจำปีนี้ รองลงมาคือกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมืองเมลเบิร์นและนครซิดนีย์ของออสเตรเลียที่ขึ้นมาติด 5 อันดับแรกเป็นครั้งแรก ตามด้วยเมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดา เมืองซูริคของสวิตเซอร์แลนด์ เมืองคาลการีของแคนาดา นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เมืองโทรอนโตของแคนาดา เมืองโอซาก้าของญี่ปุ่น และเมืองโอคแลนด์ของนิวซีแลนด์
กรุงเวลลิงตันและเมืองโอคแลนด์ของนิวซีแลนด์ขยับขึ้นถึง 35 และ 25 อันดับตามลำดับเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนกรุงฮานอยของเวียดนามขยับขึ้น 20 อันดับ และกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียขยับขึ้น 19 อันดับ