สนามเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กำลังขับเคี้ยวหาเสียงหาคะแนนกันอย่างคึกคักยิ่ง บางจังหวัดมีคนลงชิงนายกฯอบจ.มากถึง 8 คน 5-7 คนบ้าง แต่บางจังหวัดในเบื้องต้นกลับมาผู้สมัครเพียงคนเดียว เช่นเดียวกับ ส.อบจ.ที่แต่ละเขตมีคนลงชิง 3-4 คน เอาเพียงเขตละ 1 คน กกต. สรุปยอดผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ 8,521 คน
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานสรุปผลการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวมจำนวน 8,521 คน แบ่งออกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวน 335 คน ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบจ.จำนวน 8,186 คน จังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกและสมาชิกฯ มากที่สุด คือ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 352 คน ประกอบด้วย นายก อบจ. จำนวน 8 คน และสมาชิก อบจ.จำนวน 344 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 34 คน ประกอบด้วย นายกฯ จำนวน 1 คน และสมาชิก จำนวน 33 คน
การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง อบจ. กำลังคึกคักยิ่ง บางจังหวัดก็เป็นสนาม ‘ช้างชนช้าง’ เป็นการต่อสู้ขับเคี้ยวกันของผู้ยิ่งใหญ่ในระดับจังหวัด หรือบางคนบอกว่า ต่างคนต่างแพ้ไม่ได้
แต่การประเดิมการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง อบจ. ก็ได้สร้างกระแสการเมืองให้พุ่งสูงขึ้นไป และกระแสเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของเงิน ทำให้เกิดสภาพคล่องในชุมชน อันเกิดจากการใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคน ทั้งใช้จ่ายเพื่อทำป้าย ค่ารถแห่ ค่าเช่าเวที–เครื่องเสียง ค่าใช้จ่ายสำหรับคนช่วยหาเสียง เหล่านี้เป็นต้น อันนี้ยังไม่นับรวมเงินหมุนเวียนนอกระบบอีกต่างหาก
แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งครานี้ ผู้สมัครแต่ละคนก็ต้องระวังตัวเต็มที่เหมือนกัน เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีข้อห้ามอยู่มากมาย ใครสุ่มเสี่ยงก็อาจจะพลาดได้
ข้อห้ามสำคัญอย่างหนึ่ง คือห้ามผู้มีตำแหน่งทางการเมืองไปช่วยใครในการหาเสียง ไม่ว่าจะในหรือนอกเวลาราชการก็ตาม ห้ามแม้กระทั่งผู้ช่วย สส. ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ล้าหลังมาก ในข้อเท็จจริง ใครจะช่วยใครหาเสียงควรจะเป็นสิทธิของคนนั่น ทำไมเขาจึงถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้บอกใครว่าคนนั่นดี คนนี้ไม่ดี แล้วให้ประชาชนใช้ดุลยพินิจเอาเอง หลังได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านว่าจะเลือกใครเข้าไปทำหน้าที่แทนพวกเขา
เดิมกฎหมายห้ามแค่ ‘ห้ามใช้ตำแหน่งหน้าที่’ เพื่อช่วยเหลือหรือเอื้อต่อผู้สมัครรายใด แต่คราวนี้ห้ามไปหมด ทำให้เสียบรรยากาศ เสียอารมณ์ในการเสพข้อมูลทางการไปไม่น้อย
กฎหมายที่มาจากคราบไครของ คสช. ทึ่ควรได้รับการแก้ไข สส.เองที่ถูกตัดสิทธิ์เรื่องนี้ควรแหกปากร้องดังๆ และเสนอญัตติแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยตัวเอง รวมถึงการลดจำนวนส.อบต.ลง จากเดิมหมู่บ้านละ 2 คน เหลือหมู่บ้านละ 1 คน เพียงแค่หวังลดงบประมาณค่าตอบแทนลงครึ่งหนึ่ง รวมถึงการตัดสมาชิกสภาเขต (สข.) ออกไป ก็ไม่รู้ว่าคนร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นคิดอะไรอยู่ และเข้าใจคำว่า ‘ท้องถิ่น’ คำว่า ‘กระจายอำนาจ’ มากน้อยแค่ไหน
7-8 ปีผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับท้องถิ่นน้อยมาก โครงการต่างๆของรัฐบาลส่วนใหญ่จะผ่านไปทางจังหวัด อำเภอ รวมถึงกำนัน–ผู้ใหญ่บ้าน แต่มีนโยบายของรัฐบาลหลายนโยบายที่ออกมาแล้วให้ท้องถิ่นไปดำเนินการ ง่ายๆคือ รัฐบาลไปเบียดบังงบประมาณท้องถิ่นผ่านนโยบายจากรัฐบาลกลาง โดยไม่ถามท้องถิ่นสักคำว่าพร้อมหรือไม่ เป็นการ ‘สั่งการ’ แทน ‘การกำกับดูแล’
รัฐบาลกลางยังห่วงอำนาจ ไม่ยอมกระจายอำนาจ ไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจตามแผนแม่บทกระจายอำนาจ ซึ่งตามหลักต้องกระจายทั้งคน งบประมาณ และอุปกรณ์–เครื่องมือ
20 ปีผ่านไปสำหรับการกระจายอำนาจ พินิจดูแล้ว ‘เดินถอยหลัง’ ไม่รู้จะลงคลองเมื่อไหร่