การลงทุนหรือทำสิ่งใดๆ ให้ประสบความสำเร็จย่อมเป็นเรื่องที่ทุกคนปรารถนา แต่จากสถิติที่เก็บรวบรวมในหลายสำนัก คนที่ประสบความสำเร็จมีน้อยกว่าคนที่ล้มเหลว ดังนั้น ในการเริ่มต้นทำสิ่งใดก็ตาม ควรจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด และต้องมีแผน 2 หรือมีการ “สำรอง” ไว้เสมอ
หากเราไปสำรวจตรวจสอบบุคคลที่เป็นนักลงทุนนักธุรกิจหรือบริษัทที่ประสบปัญหาจะพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการทุ่มทุนกับอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้กระจายความเสี่ยงไม่มีแผนสำรองอีกทั้งไม่มีเงินสำรองที่จะใช้ “แก้ตัว”
การขับรถก็ต้องมียางอะไหล่ หรือยางสำรอง (ยกเว้นรถบางรุ่นบางยี่ห้อที่ใช้ยางรถยนต์ชนิดพิเศษที่ไม่สามารถเปลี่ยนยางอะไหล่เหมือนรถทั่วๆ ไปได้)
[restrict]การจัดงานของบรรดาออร์แกไนเซอร์ไม่ว่าจะเป็นในอาคาร (อินดอร์) หรือนอกอาคาร (เอาท์ดอร์) ก็จำเป็นต้องมีแผนสำรองไว้เสมอ เช่น หากจัดงานนอกอาคารในช่วงฤดูฝนแล้วฝนตก จะทำอย่างไร หรือ หากจัดงานใหญ่ในอาคารแล้วไฟตก ไฟดับ เครื่องเสียงมีปัญหา จะทำอย่างไร เป็นต้น
ในการลงทุนก็เช่นกันนักลงทุนควรต้องคิดเผื่อไว้เสมอว่าหากผลของการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้จะพลิกสถานการณ์อย่างไร
เช่น การลงทุนในหุ้น ซึ่งเราเชื่อมั่นอย่างมาก ว่าหุ้นนั้นเป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีความมั่นคง เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ถึงยังไงลงทุนไปก็ไม่เสียหายหมดเนื้อหมดตัวแน่ สามารถซื้อลงทุนยาวๆ ได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าหลายครั้งราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนโดยตรงกับปัจจัยพื้นฐาน หรืออาจจะมีปัจจัยใหม่เข้ามาส่งผลกระทบกับหุ้นตัวนั้น ดังนั้น จะต้องมีแผนสำรองไว้ว่า หากราคาหุ้นตัวนั้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำอย่างไร
บางคนอาจใช้วิธีการ “ขายตัดขาดทุน” แล้วไปรอซื้ออีกครั้งเมื่อราคาลดลงไปต่ำกว่าราคาที่ขาย หรือบางคนอาจใช้วิธีการ “ซื้อถัวเฉลี่ย” ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องมี “เงินสำรอง” ไว้สำหรับการซื้อถัวเฉลี่ยด้วย
หรือกรณีนักลงทุนที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้มาก กล้าได้กล้าเสีย และเลือกพอร์ตหุ้นที่เน้นไปทางหุ้นที่ราคาเคลื่อนไหวหวือหวา หรืออาจจะก้าวข้ามไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีพอร์ตหุ้นสำรอง หากพอร์ตหลักเกิดเสียหลักไม่เป็นไปตามที่คาด ซึ่งพอร์ตสำรองก็ควรจะเป็นหุ้นพื้นฐานที่ความเสี่ยงต่ำ ตามหลักของการกระจายความเสี่ยง
ในการลงทุนธุรกิจก็ไม่แตกต่างกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่มีเงินทุนหนากว่าจะมีโอกาสมากกว่า เพราะสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากกว่า และหากเกิดความผิดพลาดล้มเหลวก็ยังมีโอกาสแก้ตัวได้มากกว่าเพราะยังมีเงินทุนเหลือ
แต่สำหรับคนที่มีเงินทุนไม่มากนัก ต้องเลือกเสี่ยงกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็จะต้องมีแผนสำรองที่หลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลว ต้องเสียหายจนเสียศูนย์ไม่สามารถกลับมาตั้งหลักได้
แผนสำรองก็อย่างเช่น กำหนดลูกค้าเป้าหมายไว้หลายระดับ โดยมีเป้าหมายหลักเป็นตัวยืน และเป้าหมายรองเพื่อ “สำรอง” ไว้ หรือมี “ผลิตภัณฑ์สำรอง” ไว้ กรณีที่ผลิตภัณฑ์หลักไม่สามารถเจาะตลาดได้อย่างที่คาดหวัง ก็จะได้ไม่เสียขวัญ สามารถงัดผลิตภัณฑ์รองออกมานำเสนอได้ทันที
พูดถึงการสำรองนั่นนี่แล้วมีอย่างหนึ่งที่ไม่เหมาะกับการมีสำรองนั่นคือคุณผู้ชายที่มีภรรยาแล้วอย่าคิดมีภรรยาสำรองเลยนะครับนอกจากจะไม่นำไปสู่ความสำเร็จแล้วอาจจะถูกสำเร็จโทษอีกด้วย (ฮา)
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง:อย่าล้มเลิกเพราะล้มเหลว
[/restrict]