วันที่ 30 กันยายนเดินทางมาถึงทีไร อดนึกถึงภาพยนตร์ที่เคยดูเมื่อหลายปีที่แล้วไม่ได้ จริงๆ เคยนำบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องนี้มาเขียนเป็นคอลัมน์ขยายความเรื่องการบริหารจัดการเงินและการลงทุนไปแล้ว แต่เมื่อนึกได้ว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ เป็นวันสุดท้ายในชีวิตการงานของหลายๆ คน เป็นวันเกษียณจากการทำงาน ใจก็ยังนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง “ดิ อินเทิร์น” (The Intern) อีกครั้ง
“ดิ อินเทิร์น” เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความแตกต่างและการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่าอย่าง “เบน วิทเทเกอร์” ที่รับบทโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร พ่อหม้ายวัย 70 ที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยเงินที่สะสมจากการทำงาน เพียงเพื่อจะพบกับความเงียบเหงา ว่างเปล่าและไร้คุณค่าทุกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน เขาจึงพาตัวเองกลับสู่สนามการทำงานอีกครั้ง ในฐานะ “เจ้าหน้าที่ฝึกงานอาวุโส” ในบริษัทเว็บไซต์แฟชั่นขายเสื้อผ้าออนไลน์ ซึ่งก่อตั้งและบริหาร โดย “จูลส์ ออสติน” รับบทโดย แอน แฮทธาเวย์ คนรุ่นใหม่ที่ทุ่มเททำงานหนักจนธุรกิจประสบความสำเร็จหลังจากก่อตั้งในเวลาเพียงแค่ 18 เดือน
ในหนังว่าด้วยความแตกต่างระหว่างคนสองวัยและการเติมเต็มระหว่างประสบการณ์ที่ตกผลึกคิดรอบคอบกับความพุ่งพล่านแบบคนรุ่นใหม่ที่คิดเร็วทำเร็วเดินหน้าเร็ว
[restrict]ในขณะที่อีกมุมหนึ่งของหนัง ซึ่งเป็นมุมเล็กๆ แต่เหมาะกับการเขียนในวัน “ปลดเกษียณ” คือ รูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณของ “เบน วิทเทเกอร์” จากผู้บริหารระดับสูง เป็นพ่อหม้าย ถึงมีลูก แต่ก็เป็นครอบครัวสังคมอเมริกันที่ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป “เบน” จึงใช้เวลาหลังเกษียณเดินทางท่องเที่ยว แต่เหมือนที่บอกตอนต้นว่า เมื่อกลับมาถึงบ้าน ชีวิตหลังวัยทำงานก็ดูเหมือนจะว่างเปล่าจนสุดท้ายชายวัย 70 ปีต้องออกมาหางานทำอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การทำงานเพื่อ “หาเงินเลี้ยงชีพ” แต่เป็นการทำงานเพื่อ “เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตตัวเอง”
“ข้อคิด” จากชีวิตของผู้ชายในภาพยนตร์คนนี้สำหรับคนวัยเกษียณมี 2 จุดหลักๆนั่นคือหนึ่งเขามีความพร้อมทางการเงินในวันที่เกษียณ (ไม่เช่นนั้นคงไม่มีเงินท่องเที่ยวทั่วโลก) และสองเขายังมีพลังในการทำงานยังพอใจที่จะใช้ความสามารถที่มีสร้างคุณค่าให้ชีวิตไม่ให้ว่างเปล่าจนเกินไป
เราไม่มีวันทำแบบ “เบน” ได้ หากว่าเราไม่เตรียมความพร้อมด้วยการหารายได้ และจัดสรรรายได้ว่า ส่วนไหนเพื่อใช้จ่าย ส่วนไหนเพื่อชำระหนี้ และส่วนไหนเพื่อการออมและการลงทุน หรือแม้แต่เมื่อเราเตรียมความพร้อมแล้ว ก็ยังมีคำถามให้เราตอบว่า “เกษียณแบบไหนที่ใช่”
อยากเกษียณแบบสบายๆ อยากอยู่บ้านเฉยๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่เกินเงินที่เก็บสะสมมา ก็ต้องเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ โดยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ก่อนเกษียณเลยว่า เราต้องการใช้จ่ายเงินเดือนละเท่าไหร่ ถ้าต้องการใช้เดือนละ 20,000 บาท หลังวันเกษียณก็ต้องเตรียมเงินก้อนไว้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่าย 20 ปีหลังเกษียณ
หรือถ้าเกษียณจากงานประจำแล้วยังอยากหาอะไรทำต่อไป ก็สามารถสร้างรายได้จากงานที่ถนัดแบบที่ “เบน” ทำ ในฐานะที่ปรึกษาแม้จะอยู่ในตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ฝึกงานอาวุโส” ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานหลายแห่งต้องการคำปรึกษาจากผู้ใหญ่วัยเกษียณ ขณะที่อีกหลายหน่วยงานยินดีต้อนรับในฐานะพนักงานขายหรือพนักงานให้ข้อมูลสินค้า แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความถนัดและสุขภาพด้วยนะคะ
ส่วนบางท่านเกษียณแล้วแต่ยังชอบลุ้น ชอบสนุกกับความเสี่ยง เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน กลุ่มนี้ต้องติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างใกล้ชิด ต้องระวังมิจฉาชีพหลอกล่อด้วยผลตอบแทนสูงๆ ควรจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีที่มาที่ไปอย่างถูกต้อง จะเป็นหุ้นปันผลในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ลงทุนได้ หรือจะลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ หรือสลากออมทรัพย์ ก็ได้ทั้งนั้น
เรื่องนี้อาจจะขัดใจลูกๆเพราะวันก่อนมีแฟนรายการที่ส่งข้อความมาบ่นอุบว่าคุณพ่อในวัยเกษียณซื้อหุ้นแบงก์ไว้หลายแห่งราคาหุ้นขยับขึ้นไปยังไงมีกำไรแล้วก็ไม่ยอมขายสุดท้ายราคาหุ้นก็กลับมาที่เดิมเพราะคุณพ่อให้เหตุผลง่ายๆว่า “ถือไว้กินปันผล” จริงๆเหตุผลของคุณพ่อก็ถูกเพราะผลตอบแทนจากเงินปันผลในหุ้นที่มั่นคงนั้นก็เหมาะควรแล้วกับวัยเกษียณค่า
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง: ทิสโก้แนะลงทุนหุ้นเฮลธ์แคร์
[/restrict]