ข่าวสะเทือนวงการลงทุนเมื่อสัปดาห์ก่อน คือการประกาศเลิก กองทุนตราสารหนี้ 4 กอง ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทย จำกัด คือ
กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 38,047 ล้านบาท
กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 25,083 ล้านบาท
กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 75,260 ล้านบาท และ
กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 10,276 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ผมตั้งข้อสังเกตเองว่า สาเหตุที่ผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมใจกันเทขายหน่วยลงทุนตั้งแต่ช่วงวันที่ 9 มีนาคม 2563 เพราะผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ (ไม่เฉพาะ 4 กองนี้ แต่หมายรวมถึงกองอื่นๆ ด้วย) น่าจะยังคงมีกำไร หรือถ้าขาดทุนก็เพียงเล็กน้อย ไม่เหมือนการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น ซึ่งขาดทุนมหาศาล ดังนั้น ผู้ลงทุนที่ยังมีกำไรและอยากจะเปลี่ยนมาถือเงินสดเพื่อโอกาสลงทุนช่วงมหกรรมลดราคารอบใหม่ จึงขายแหลก
หากจำกันได้ ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 9 มีนาคม ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วนสุดเหวี่ยงเพราะโควิด-19 อาละวาดอย่างหนักในยุโรปและอเมริกา ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ค หล่นจาก 25,994 จุด จนหลุด 25,000 จุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม แล้วไหลลงมาต่ำสุดที่ 18,213 จุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ลดลงถึง 30% ในเวลาแค่ 11 วันทำการ
ส่วนตลาดหุ้นไทยในช่วงเดียวกัน ดัชนีร่วงจาก 1,364 จุด ลงไปต่ำสุดที่ 969 จุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หรือลดลง 29% ในเวลาแค่ 5 วันทำการ
ไม่ใช่แค่หุ้นเท่านั้น แต่สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ ถูกขายเทกระจาดทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ทองคำที่บอกกันว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาร่วงจาก 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ลงมาแตะจุดต่ำสุดในรอบนี้ที่ 1,451 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 หรือลดลง 14.6% ในเวลาแค่ 6 วันทำการ
แล้วคุณคิดว่าตราสารหนี้จะรอดหรือ?
ผมจึงไม่ได้ตระหนกตกใจอะไรกับการเทขายตราสารหนี้อย่างผิดปกติ แต่หน่วยงานที่เขากำกับดูแล และผู้จัดการกองทุนที่เขาบริหารกองทุนเหล่านี้อยู่นั้นย่อมอยู่นิ่งไม่ได้ อันเป็นที่มาของการจัดแถลงข่าวร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 เพื่อประกาศมาตรการอัดฉีด กองทุนตราสารหนี้ และหุ้นกู้ออกใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบอายุ
ตามมาด้วยการประกาศเลิกโครงการกองทุนธนไพบูลย์ และ ธนเพิ่มพูน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม และเลิกโครงการกองทุนธนพลัส และ ธนไพศาล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม
ถามว่า 4 กองทุนนี้มีปัญหาหนักกว่ากองทุนอื่นใช่ไหม ถึงต้องเลิก และจะลามไปที่กองทุนอื่นๆ ไหม
กลับมาที่ข้อสังเกตที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่แรกก่อน ว่า กองทุนตราสารหนี้ ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกจริงหรือไม่ ก่อนที่จะถูกขายหนักในช่วงตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2563
ไปดูแต่ละกองทุนกันเลยครับ
กองทุนธนไพบูลย์ ให้ผลตอบแทนในปี 2562 ที่ระดับ 3.73% ก็ถือว่าไม่น้อย แต่ถ้าดูมูลค่าสินทรัพย์สุทธิจนถึงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ราคาขยับขึ้น 5.14% นั่นแสดงว่าราคาหน่วยลงทุนก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการยืนยันสิ่งที่ผมคิดว่ากองทุนนี้มีกำไรแน่ๆ และเพิ่งซวนเซในช่วงหลังวันที่ 9 มีนาคมนั่นแหละ ทำให้ราคาหน่วยลงทุนลดลง 5.15% ในเวลาแค่ 13 วันทำการ (แค่ 13 วัน ราคาลดลงเท่ากับที่ขยับขึ้นมา 1 ปีกว่า) และผู้จัดการกองทุนก็ตัดสินใจยุติกอง โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน”
เราห้ามไม่ให้คนคิดไปเรื่อยเปื่อยไม่ได้หรอกครับ บางคนก็บอกว่ามันต้องมีปัญหาที่ไม่ยอมบอกแน่ๆ หรือบางคนก็คิดลบไปใหญ่โตว่ามันจะต้องลุกลามไปอย่างนั้นอย่างนี้
ขอให้หยุดตื่นตระหนกและดูข้อมูลจริงๆ กันดีกว่าครับ
ตราสารหนี้ในพอร์ตของกองทุนธนไพบูลย์ มีทั้งตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศ โดยตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ถือเยอะๆ คือ HSBC Holding และ Emirates NBD ซึ่งมีเรตติ้ง A ส่วนตราสารหนี้ในประเทศ มีอันดับเครดิต AAA ถึง 12.4% AA 11.6% BBB 10.9% และ A 3% ก็เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ ลงทุนในตราสารหนี้ที่อยู่ในเกรดลงทุนทั้งนั้น
ตราสารหนี้ในพอร์ตของกองทุนธนเพิ่มพูน ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ในประเทศ มีอันดับเครดิต AAA ถึง 15.1% BBB 9.3% AA 5.9% และ A 5.7% ก็เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพเช่นกัน และมีลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศนิดหน่อย เช่น UBS AG London ซึ่งมีเรตติ้ง AA ก็เป็นเรตติ้งที่สูง
กองทุนธนเพิ่มพูน ให้ผลตอบแทนในปี 2562 ที่ระดับ 2.18% แต่ถ้าดูมูลค่าสินทรัพย์สุทธิจนถึงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ราคาขยับขึ้น 2.68% และหลังวันที่ 9 มีนาคม จนถึงวันที่ 25 มีนาคม ราคาหน่วยลงทุนลดลง 2.50% ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าก่อนจะเกิดแรงขายแบบไม่คิดชีวิตหลังวันที่ 9 มีนาคม กองทุนนี้ก็ยังมีกำไร
ตราสารหนี้ในพอร์ตของกองทุนธนพลัส มีตราสารหนี้ในประเทศ อันดับเครดิต A 25% AAA 23% AA 10.7% และ BBB 0.34% เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพมาก ส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศก็มีเรตติ้ง A 18% (ธนาคารจีน) และ AA 8.5% โดยกองทุนนี้ให้ผลตอบแทนในปี 2562 ที่ระดับ 1.82% และเนื่องจากเป็นกองใหญ่ที่สุดในบรรดา 4 กองนี้ เมื่อถูกแรงเทขายหนัก ทางผู้จัดการกองทุนจึงตัดสินใจยุติเสียก่อน
สุดท้ายกองทุนธนไพศาล มีตราสารหนี้ในประเทศ อันดับเครดิต A 21.9% AA 19.2% AAA 18% และ BBB 8.9% ส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศมีเรตติ้ง A 21.3% AA 11.3% (การจัดอันดับแบบสากล) โดยกองทุนนี้ให้ผลตอบแทนในปี 2562 ที่ระดับ 2.91%
แต่ถ้าดูมูลค่าสินทรัพย์สุทธิจนถึงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ราคาขยับขึ้น 3.95% และหลังวันที่ 9 มีนาคม จนถึงวันที่ 26 มีนาคม ราคาหน่วยลงทุนลดลง 2.18% ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าก่อนจะเกิดแรงขายแบบไม่คิดชีวิตหลังวันที่ 9 มีนาคม กองทุนนี้ก็ยังมีกำไร
ความไม่เชื่อมั่นสามารถทำลายได้ทุกสิ่งอย่าง แต่ก่อนจะขาดความเชื่อมั่น ขอให้ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยใจเป็นธรรมเสียก่อน
เราอยากจะซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง หรือจะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น จงเลือกทางเดินให้ถูกต้องเถิดครับ กองทุนตราสารหนี้ ยังมีความมั่นคง
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ฟื้นฟูเสถียรภาพตลาดเงิน ตลาดทุนไทย กองทุนออมดอลลาร์ ช่วยชาติ