ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัดฉีดเม็ดเงินสภาพคล่องที่ถูกมองว่า เป็นเม็ดเงิน QE เข้าสู่ตลาดการเงินล่าสุดเป็นจำนวนถึง 101,100 ล้านดอลลาร์ หลังเกิดความตึงตัวในตลาดเงินอย่างฉับพลัน ส่งผลอัตราดอกเบี้ยช่วงข้ามคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repo) พุ่งทะยานแตะระดับ 10% ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา
ท่ามกลางสัญญาณทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง รวมถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเผชิญความท้าทายทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐซึ่งมีพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภา เริ่มการไต่สวนเพื่อนำไปสู่กระบวนการถอดถอน (Impeachment)
โดยที่เฟดสาขานิวยอร์ก ได้ทำหน้าที่ในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดการเงินในวันพฤหัสฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงินสหรัฐ หลังจากที่เกิดความปั่นป่วนจากความตึงตัวอย่างฉับพลัน เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้ช่วงข้ามคืนในตลาด Repo ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
[restrict]ทั้งนี้ เฟดสาขานิวยอร์กได้อัดฉีดเงินจำนวน 101,100 ล้านดอลลาร์ล่าสุดเมื่อวานนี้ ผ่านทางมาตรการซื้อคืนพันธบัตร (Repo) ซึ่งยังคงเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องจำนวน 75,000 ล้านดอลลาร์ในวันที่่ 18 กันยายน
หลังจากที่ได้อัดฉีดเงิน 53,000 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 17 กันยายน เพื่อสกัดดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนในตลาด Repo ที่พุ่งขึ้นที่ 10% ทั้งที่อัตราดอกเบี้ยใน Repo ช่วงข้ามคืนร่วงลงสู่ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับ ที่ใกล้เคียงกับระดับที่เคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ระหว่าง 2.0-2.5%
ขณะที่สัญญาณทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนตัวลง จากการทบทวนภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เป็นครั้ง 3 อยู่ที่ระดับ 2.0% จากที่เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.3% และเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสแรกที่ขยายตัวที่ 3.1%
นอกจากนี้ เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน โดยแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ้ประกาศเริ่มการไต่สวนเพื่อนำไปสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง โดยสภาได้เปิดเผยคำร้องผู้เปิดโปง (Whistle-Blower) ที่ระบุถึงผู้นำสหรัฐ ว่ามีการใช้ต่างชาติเป็นเครื่องมือใส่ร้ายโจ ไบเดน ซึ่งเป็นคู่แข่งขันหลักจากพรรคเดโมแครต
ทั้งนี้ ผู้เปิดโปงได้ระบุในคำร้องเรียนที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการสภาคองเกสเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ยังใช้ตำแหน่งหน้าที่เป็นชนวนให้ต่างประเทศเข้าแทรกแซงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020
ผู้เปิดโปงได้ชี้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กดดันผู้นำยูเครนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัว จากการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม กับโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ได้กลายเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ผู้เปิดโปงรายนี้ได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำยูเครน และประธานาธิบดีใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
เจ้าหน้าที่ทำเนียบยังได้สั่งการให้บรรดานักกฎหมายของทำเนียบขาวลบสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่สำเนาเหล่านี้โดยทั่วไปมักจะเก็บไว้เพื่อการประสานงาน หรือสรุปรายงานในการแจกจ่ายต่อคณะรัฐมนตรี
ทางด้านประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปฏิเสธเมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน ไม่ได้ลุแก่อำนาจ หรือกดดันให้ประธานาธิบดีของยูเครนทำการเปิดสอบสวนโจ ไบเดน ที่กำลังรณรงค์หาเสียง และเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้เปิดโปงไม่ได้บ่งชี้ว่า บทสนทนาที่ผู้นำสหรัฐพยายามให้ความช่วยเหลือยูเครนมาโยงกับการขอให้ผู้นำยูเครนตรวจสอบโจ ไบเดน ที่ชัดเจน แต่การสนทนาทั้งคู่ก็ได้พูดถึงเรื่องความช่วยเหลือที่เกี่ยวโยงกับเงินจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งระงับไปก่อนหน้านั้น และต่อมามีการอนุญาตให้อัดฉีดกับยูเครนในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการพูดคุยทางโทรศัพท์
ขณะที่โพลล์สำรวจของ NPR/PBS NewsHour/Marist Poll ชี้ว่า 49% สนับสนุนให้ดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ต่อเรื่องฉาวดังกล่่าว แต่ก็มีถึง 46% แสดงการคัดค้าน[/restrict]