นับตั้งแต่แบงก์ชาติตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและแบงก์พาณิชย์ทยอยลดดอกเบี้ย “เงินกู้” คำถามที่ได้รับบ่อยที่สุดคือ“ดอกเบี้ยต่ำแบบนี้จะลงทุนอะไรดี ?”ไม่ใช่แค่คนคุ้นเคยหรือคนรู้จักที่มาถามถึงขนาดจะมาขอสัมภาษณ์ก็ยังมี
เอาจริงๆถ้าตั้งต้นมาถามว่า “ดอกเบี้ยต่ำจะทำอะไรดี” ดิฉันก็ตอบไม่ได้เหมือนกันเพราะ !? เพราะดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลงมันไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินฝากแต่มันเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ดังนั้นถ้าเราพูดว่า “ดอกเบี้ยต่ำ” ก็ต้องเข้าใจว่ามันต่ำแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
มันต่ำมากและต่ำนานจนกระทั่งแบงก์ชาติเองยังต้องออกมายอมรับก่อนหน้านี้ว่า
ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ยาวนานแบบนี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มแสวงผลตอบแทนที่มากขึ้น ตอนแรกก็แค่ “แสวงหา” หรือ Search For Yield พอนานไปเรื่อยๆ ก็เพิ่มดีกรีจาก “แสวงหา” เป็น “ไล่ล่า” หรือ Hunt For Yield
แชร์ลูกโซ่ถึงมี “เหยื่อ” มากขึ้น การลงทุนในรูปแบบหลอกลวงสารพัดโดยเอาผลตอบแทนสูงๆ มาล่อ ถึงได้สร้างความเสียหายได้ในวงกว้างขึ้น มีทั้งนำเสนอแฟรนไชส์ที่ผู้ลงทุนเอาเงินมากองไว้ 3-5 ล้านบาท รอรับปันผลสบายๆ ปีละ 120% โดยที่ก่อนจะลงทุนไม่ศึกษาให้รอบคอบก่อนว่า ไอ้ธุรกิจที่เขามานำเสนอนั่นมันมีอนาคตจริงๆ หรือเปล่า ก็เพราะเรา “ไล่ล่าหาผลตอบแทนสูง” จนลืมหลักพื้นฐานของการลงทุน
[restrict]ดิฉันถึงไม่เข้าใจว่า สำหรับคนที่อยู่กับดอกเบี้ยเงินฝากมาตลอด จะดิ้นรนไปไหนในเมื่อดอกเบี้ยเงินฝากของคุณก็ยังเท่าเดิม หรือคนที่ไม่เคยพึ่งพิงดอกเบี้ยเงินฝาก จะโวยวายทำไมว่า ดอกเบี้ยลดแล้ว จะทำยังไงดี ทั้งๆ ที่เงินของเราไม่เคยแสวงหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากเลย
แต่จะให้ตอบตรงๆ แบบนี้ ก็ดูจะขาดหลักคิด และกลายเป็นกำปั้นทุบดินไปหน่อย (ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจริง) ดิฉันก็เลยขออนุญาตแชร์เรื่องที่ได้รับเชิญให้ไปเล่าประสบการณ์เรื่องเงินๆ ทองๆ ของตัวเองให้กับพนักงานฝ่ายควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ฟังเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
การไปพูดที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แตกต่างจากเมื่อครั้งไปพูดที่โรงงานซาบีน่า ถนนพุทธมณฑลสาย 5 จังหวัดนครปฐม เพราะตอนไปบุกโรงงานซาบีน่านั้น โจทย์ที่ได้รับมา คือ ให้คุยเรื่อง “หนี้” เน้นไปที่การป้องกันปัญหาหนี้และแก้ไขปัญหาหนี้ไปเลย ส่วนที่ซีพี โจทย์คือ อยากให้แชร์ทั้งประสบการณ์การเก็บเงิน การใช้เงิน การแบ่งสัดส่วน รวมถึงเรื่องของการลงทุนด้วย
และเพื่อให้เข้ากับ Money Care ที่เราจั่วหัวว่า “ดอกเบี้ยต่ำจะทำอะไรดี” ก็น่าจะมีแค่เรื่องเดียวคือเรื่องของการลงทุนเพราะคนที่ถามคำถามนี้คงไม่ได้อยากนำเงินไปทำอะไรนอกจากไปแสวงหาผลตอบแทนที่งอกเงยจากการลงทุน
หลักคิดง่ายๆ สำหรับเรื่องนี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่าถ้าจะลงทุน ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ และยอมรับความเสี่ยงค่ะ
รู้และเข้าใจว่าสินทรัพย์ที่เราเข้าไปลงทุนแต่ละประเภทคืออะไรและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีหลักพื้นฐานว่า “เสี่ยงสูงตอบแทนสูงเสี่ยงต่ำตอบแทนต่ำ”
ดิฉันลองไล่เรียงค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เริ่มตั้งแต่เงินฝาก ซึ่งดอกเบี้ยอยู่ในราว 0.75-1.25% ต่อปี พันธบัตรรัฐบาล 3-4% ต่อปี หุ้นกู้บริษัทเอกชน 3-5% ต่อปี และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงและมีโอกาสเติบโต) เฉลี่ย 8-10% ต่อปี ผลตอบแทนที่เราพูดถึงนี้ มีเรื่องระยะเวลาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ฝากถอนได้ทุกวันดอกเบี้ยก็จะต่ำกว่าเงินฝากประจำ (แต่ปัจจุบันธนาคารก็นำเสนอออมทรัพย์พิเศษที่ฝากถอนได้ แต่ผลตอบแทนเท่าดอกเบี้ยฝากประจำ)
ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาล อายุก็จะอยู่ระหว่าง 3-5 ปี หุ้นกู้ก็เหมือนกัน อาจจะมีระยะยาวแบบ 7 ปีหรือ 10 ปี หรือตลอดชีวิตก็มี แล้วแต่เราจะเลือก ส่วนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าอยากได้ผลตอบแทนประมาณนี้ก็ต้องเลือกหุ้นดี และให้เวลาลงทุนยาวๆ ซัก 10 ปีถึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง หรือถ้าเงินน้อย แต่อยากลงทุน ก็เลือกใช้เครื่องมืออย่าง “กองทุนรวม” มาเป็นตัวช่วย จะเลือกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทน 1-2% หรือกองทุนหุ้นผลตอบแทนเฉลี่ย 8-10% หรือกองทุนผสมระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ ผลตอบแทน 3-5% ก็เลือกได้ทั้งนั้น แค่ศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจกับมันว่า แต่ละเครื่องมือมันคืออะไร เหมาะสมกับเราหรือไม่
วันนี้เพิ่งมีคนมาถามว่าจะเอาเงินไปทำอะไรดีถึงรวยจะซื้อสลากออมสินดีมั้ยดิฉันก็ตอบว่าต้องเข้าใจธรรมชาติของสลากออมสินรวมทั้งสลากธกส. หรือธอส.ด้วยว่าถ้าจะลงทุนต้องหวัง “ถูกรางวัลใหญ่” นั่นแหละถึงจะรวยเพราะถ้าหวังผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยมันก็ไม่ได้เอื้อให้ “รวย” กับดอกเบี้ยเพียงแค่ 1% กว่าๆต่อปีถ้าเข้าใจและยอมรับก็ลงทุนได้
เครื่องมือลงทุนนั้นมีให้เลือกเยอะค่ะแต่เราต้องมีความรู้และเข้าใจรวมถึงยอมรับความเสี่ยงให้ได้ดิฉันบอกกับพนักงานเครือซีพีในวันที่ไปบรรยายให้ฟังว่าถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจและยอมรับความเสี่ยงไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะดิฉันเคยเห็นคนที่พึ่งพิงเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากที่สามารถทำให้เขามีความพร้อมทางการเงินและมีความสุขในวัยเกษียณได้
เพียงแต่เมื่อผลตอบแทนมันน้อย เขาก็ต้อง “เก็บเงิน” ในอัตราเร่งที่เร็วขึ้นด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้น ต้องเบียดเบียนตัวเองมากกว่า ซึ่งเขาอาจจะเสียเปรียบคนที่ใช้เครื่องมือลงทุนทำงานแทน แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะแบบไหน ก็ล้วนถึงจุดหมายปลายทางที่ “เกษียณ” อย่างมีความสุขได้เหมือนกันค่ะ[/restrict]