ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากรู้จักและคบค้าสมาคมกับคนดี อีกทั้งอยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นคนดี แต่เหตุที่ยังมีคนไม่ดีให้เห็นอยู่บ้างในสังคม ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดๆ ในคำว่า “ดี” ประกอบกับได้รับประสบการณ์ที่กระทบจิตสำนึกด้านดีครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ทำดีแล้วไม่ได้ดี หรือได้เห็นคนที่ทำไม่ดีกลับได้ดี เป็นต้น จึงทำให้ขาดศรัทธาในการทำความดี
ในแวดวงธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากหากปล่อยให้เกิดความอยุติธรรมปล่อยให้คนไม่ดีเอาเปรียบคนอื่นเอาเปรียบคนดีเบียดบังประโยชน์สาธารณะอยู่ร่ำไปสักวันระบบทุนนิยมแบบนี้ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ต้องล่มสลายลงไปในที่สุด
ผมจึงชูมือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ 12 องค์กร เปิดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรธรรมาภิบาล ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
[restrict]และเนื่องจากองค์กรต่างๆ ในตลาดทุนต่างก็มีบทบาทหน้าที่ของตนเองที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำความดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงย่อมมีแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย เช่น บริษัทจดทะเบียนซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม จะต้องตระหนักในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้งจนเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม มีการควบคุมมลภาวะด้านกลิ่น เสียง และสารพิษ ไม่ให้หลุดรอดไปสู่ภายนอก เป็นต้น
หรือในมุมของที่ปรึกษาทางการเงิน ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวของผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น ที่ปรึกษาทางการเงินที่จะไปเชิญชวนบริษัทอะไรสักแห่งให้ออกหุ้นเพิ่มทุนขายแก่ประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) ก็ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะเลือกบริษัทที่มีธรรมาภิบาล และดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี หรือส่งเสริมให้บริษัทที่ตนเองเป็นที่ปรึกษาตระหนักในเรื่องเหล่านี้ก็ถือว่ามีส่วนเสริมสร้างความดีในตลาดทุนแล้ว
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือการแนะนำประชาชนให้ลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ก็ถือว่าได้ทำความดีตามโครงการนี้เช่นกัน
ทีนี้มาดูในกลุ่มของ “นักลงทุน” บ้างนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายย่อยรายใหญ่หรือสถาบันก็มีส่วนร่วมกับโครงการได้โดยตั้งเป้าหมายเลือกสนับสนุนเฉพาะบริษัทที่มีธรรมาภิบาลและต่อต้านบริษัทที่มีแนวทางการทำธุรกิจแบบเทาๆดำๆ
และอย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า บางทีคนที่ไม่อยากทำความดี เพราะคิดว่าทำไปก็ไม่มีใครเห็น โครงการนี้จึงมีแนวปฏิบัติให้ยกย่องเชิดชูบริษัทที่แสดงเจตจำนงทำดีและทำได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้มุ่งมั่นในการพัฒนาและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจัดทำเป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างและเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ด้วย
ผมจะคอยลุ้นต่อไปครับ ว่าสำนักงาน ก.ล.ต.และ 12 หน่วยงาน ที่ได้ร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน อันประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย จะมีผลงานอะไรเป็นรูปธรรมขึ้นมาจากโครงการนี้บ้าง
ส่วนตัวผมเองแม้ไม่ได้อยู่ในองค์กรเหล่านี้แต่ก็ได้ใช้บทบาทนักเขียนทำในสิ่งที่ควรทำแล้วดังนั้นสิ่งที่ผมทำก็มีส่วนเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเช่นเดียวกัน[/restrict]