ในยามเศรษฐกิจผันผวนและปรวนแปร จากหลายๆปัจจัยทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนนี้เดี้ยงเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นส่งออกหรือท่องเที่ยวที่ทำรายได้รวมกันเกือบ80%ของจีดีพี.อยู่ในสภาพไปไม่กลับหลับไม่ตื่นการลงทุนเอกชนก็ไม่เกิดเพราะยังต้องดูการลงทุนจากภาครัฐก่อน เหลือเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายคือ “การลงทุนภาครัฐ”เท่านั้นที่พอจะพึ่งเนื้อนาบุญช่วยประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้
ไม่น่าเชื่อที่จู่ๆร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี63 ต้องมาตายน้ำตื้น จาก กรณีส.ส.พรรคภูมิใจไทย “เสียบบัตรแทนกัน” ในระหว่างประชุมร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯปี63 กลายเป็นเรื่องใหญ่อาจจจะส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้อาจต้องโมฆะ
อันที่จริงร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี63 หากเป็นสถานการณ์ปกติจะต้องมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อ5เดือนที่แล้วแต่ถูกเลื่อนเพราะรอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงที่รอ งบฯปี63 จึงเป็นช่วงสูญญากาศไม่มีการลงทุนจากภาครัฐแถมกรณี เสียบบัตรแทนยิ่งทำให้ล่าช้าออกไปไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่
งบประมาณคือ”เส้นเลือดใหญ่”หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศและเป็นเส้นเลือดที่วิ่งกระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค ลงไปถึงจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านในชนบทไม่ว่าใกล้หรือไกล เมื่อต้องสะดุด งบลงทุนที่จะไปต่อเติม ก่อสร้าง อาคาร หรืองบช่วยภัยแล้งก็ลงมาไม่ได้ แม้แต่งบประจำที่จ่ายเป็นเงินเดือนมีอยู่ราวๆ5แสนล้านบาท ถึงแค่มีนาคมนี้ เท่านั้น
ถ้าเงินงบประมาณไม่ลงมาไม่มีเม็ดเงินมาหมุนในระบบเศรษฐกิจ ระบบการจับจ่ายไม่เกิด ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ไม่ขยับ เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนลำบาก ขณะที่เศรษฐกิจอ่อนแรงอยู่แล้วจากแรงกระแทกทั้งภายในและภายนอก ยังถูกซ้ำเติมจากความมักง่ายของคนไม่กี่คน
ทางออกจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ต้องใช้เวลา 1-2 เดือนคาดว่ารัฐบาลจะได้งบฯปี63จริงๆเร็วที่สุดก็คงราวๆเดือนเมษายน นั่นแปลว่า เม็ดเงิน 3.2ล้านๆบาทของงบประมาณปี 63 น่าจะมีเวลาให้ใช้ไม่กี่เดือนเท่านั้น
แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งเป็นโมฆะเหมือนกับ กรณีพ.ร.บ.กู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2ล้านล้านบาทสมัยรัฐบาลยิ่งลักษ์ นั่นเท่ากับต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ กว่าจะมีผลให้ใช้ก็อาจะเกือบๆปลายปี
ทางออกเฉพาะหน้า รัฐบาลจะต้องออกเป็น”พระราชกำหนด”โดยเร็วที่สุดเพื่อใม่ให้ระบบเศรษฐกิจเกิดสูญญากาศ ไม่ให้ประเทศต้องถูก”ชัตดาวน์”เหมือนกรณีสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการ
1)รัฐบาลต้องออกเป็นพระราชกำหนดพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี63 ตามวงเงินที่สภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาแก้ไขแปรญัตติแล้ว 3.2ล้านล้านบาทและนำพระราชกำหนดดังกล่าวเข้าผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา
2)ออกพระราชกำหนดวงเงินให้กระทรวงการคลังใช้เงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวนหนึ่ง เท่ากับเม็ดเงินลงทุนที่เตรียมไว้ในพรบงบประมาณปี63
นี่คือ ทางออกที่ดีที่สุดที่รัฐบาลมีอำนาจทำได้ในยามจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลในอดีตก็เคยออกพระราชกำหนดทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศมาแล้ว
ครั้นจะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้กว่างบประมาณจะเดินทางลงไปถึงปลายทางอย่างน้อยๆต้องใช้เวลา 6เดือน ยิ่งต้องมาเจอกรณี”ท่อตัน” จากระบบราชการทำงานล่าช้า และไม่กล้าตัดสินใจก็ยิ่งยืดเวลาการใช้เงินไปอีก
นั่นเท่ากับ”เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย”ที่รัฐใช้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจแทบทำอะไรไม่ได้ แม้ในที่สุดรัฐบาลจะหาทางออกได้ แต่เรื่องความเชื่อมั่นของภาคเอกชนน่าจะลดลง จะเห็นได้จากวันแรกที่เกิดกรณีนี้ ตลาดหุ้นโดนหางเลขทันที
ความเสียหายจากความมักง่ายครั้งนี้ประเมินไม่ได้ ไม่ต่างจากประเทศถูกชัตดาวน์ ก็คงต้องรอดูว่านักการเมืองที่เป็นต้นเหตุจะแสดงสปิริตอย่างไรพรรคการเมืองต้นสังกัดจะลงโทษหรือปล่อยให้ผ่านเลยเหมือนกรณีอื่นๆทีเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรัฐบาลชุดนี้