ลงทุนหุ้น ก็เหมือนกับการซื้อขายสินค้าอื่นๆ ทั่วไป ถ้าอยากมีกำไรก็ต้องยึดหลักของการ “ซื้อถูก–ขายแพง” แต่จะซื้อตอนไหนหรือขายตอนไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นประเภทไหน
หากเล่นหุ้นเป็นอาชีพ ติดตามตลาดอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถจะซื้อขายถี่ๆ ได้ แต่ถ้าลงทุนหุ้นเป็นรายได้เสริม ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อขายบ่อยๆ แต่ควรใช้วิธีการรอจังหวะที่ตลาดลงแรงๆ แล้วค่อยเข้าซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ซื้อของถูกชัวร์ๆ
ผมลองย้อนกลับไปดูสถิติการซื้อขายหุ้นย้อนหลัง พบว่าในแต่ละปีดัชนีราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลดลงแรงๆ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงต่ำสุดติดลบถึง 138.96 จุด หรือลดลงจากวันก่อนหน้านั้น 9.17% โดยมีมูลค่าการซื้อขายทะลุ 1 แสนล้านบาท ดัชนีราคาหุ้นแตะจุดต่ำสุดวันนั้นที่ 1,375.99 จุด ซึ่งต่ำที่สุดในรอบเกือบ 7 เดือน นั่นคือมหกรรมกระหน่ำลดราคาประจำปีที่ไม่ได้มาถึงบ่อยๆ
หรือถ้าย้อนกลับไปนานกว่านั้นอีก
ปี 2555 ช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน แค่ 4 วันทำการ ดัชนีหุ้นร่วงประมาณ 56 จุด หรือ 4.8% ต่ำสุดรอบนี้ที่ดัชนี 1,099.15 จุด
ปี 2556 ช่วงวันที่ 26-27 ธันวาคม แค่ 2 วันทำการ หุ้นร่วงประมาณ 46 จุด หรือ 3.45% ดัชนีต่ำสุดรอบนี้คือ 1,286.70 จุด
ปี 2557 คือช่วงวันที่ 8-15 ธันวาคม แค่ 4 วันทำการ หุ้นร่วงประมาณ 227 จุด หรือ 14% ดัชนีต่ำสุดรอบนี้คือ 1,375.99 จุด
ปี 2558 ช่วงที่ดัชนีลดลงต่อเนื่องและลึกสุดคือช่วงวันที่ 23 พฤศจิกายน –14 ธันวาคม แค่ 16 วันทำการ หุ้นร่วงประมาณ 150 จุด หรือ 11% ดัชนีต่ำสุดรอบนี้คือ 1,251.99 จุด
ปี 2559 ดัชนีลดลงแรงถึง 2 รอบ…รอบแรกช่วงวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 12 กันยายน ดัชนีร่วง 145 จุด หรือ 9.3% ในเวลา 12 วันทำการ ดัชนีต่ำสุดรอบนี้ที่ 1,410 จุด และอีกรอบหนึ่งคือช่วงวันที่ 6 – 12 ตุลาคม ซึ่งดัชนีร่วงจาก 1,518 ไปอยู่ที่ 1,343 จุด ลดลงถึง 11.5% ในเวลาแค่ 4 วันทำการ
ปี 2560 เป็นปีที่ตลาดไม่เป็นใจสำหรับคนที่รอจังหวะซื้อหุ้น เพราะดัชนีแทบจะไม่ย่อตัวแรงๆ เลย วันแรกของปีดัชนีก็กระโดดจาก 1,543 ไปที่ 1,571 จุดโน่น คนที่รอซื้อเมื่อดัชนีลดลงมากกว่า 10% เหมือนปีก่อนๆ จะไม่มีโอกาสซื้อหุ้นเลย
เพราะดัชนีปี 60 ที่ลดลงต่ำกว่าดัชนีปิดปี 2559 มีแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือวันที่ 10 มีนาคม และวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 จากนั้นก็วิ่งขึ้นตลอดทาง จนไปปิดปีที่ 1,753.71 ซึ่งเป็นดัชนีที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ นั่นแสดงว่า หากมองดัชนีราคาหุ้นเป็นหุ้นหนึ่งตัว ใครที่ซื้อหุ้นนี้ไว้ก็จะมีกำไรทุกคน แต่คนที่ยังไม่มีหุ้นและรอซื้อของถูกจะเสียโอกาสเพราะไม่มีของไว้ขายตอนที่ดัชนีวิ่งขึ้นเลย
เมื่อผ่านปีที่ดีสุดๆ อย่างปี 2560 แล้ว ก็แน่นอนครับ จะให้ดีอย่างนี้ต่อเนื่อง 2 ปี คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จังหวะการลงทุนของคนที่รอให้ดัชนีราคาหุ้นย่อแรงๆ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปี 2561 และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ปี 2561 ช่วงต้นปี พลังส่งจากปี 2560 ยังแรงติดเทอร์โบ ดันดัชนีวิ่งขึ้นไปถึง 1,848 จุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม โดยมีเสียงของนักวิเคราะห์ผู้มองโลกในแง่ดีมากๆ หลายคนบอกว่าดัชนีมีโอกาสวิ่งไปถึง 2,000 จุด ซึ่งการส่งสัญญาณเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้คนเล่นหุ้นหลายคนติดกับดัก เพราะเมื่อดัชนีลดลงมาเพียงเล็กน้อยก็เข้าซื้อแล้ว พอลดลงอีกก็เข้าซื้อถัวเฉลี่ยอีก เรียกว่าถัวกันจนเงินหมดหน้าตัก
เพราะช่วงของการปรับลดลงของดัชนีราคาหุ้นนั้นยาวและลึก จาก 1,852 จุด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ไหลลึกถึง 1,584 จุด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 แม้ในระหว่างทาง 4 เดือนกว่านั้นจะมีการดีดตัวเล่นรอบได้บ้างก็ตาม
ถ้าคิดว่าดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหุ้นตัวหนึ่ง แล้วเราซื้อเฉพาะช่วงมหกรรมลดราคา เช่น ปี 55 ซื้อที่ดัชนี 1,100 แล้วไปขายในปี 2556 ที่ดัชนี 1,648 (22 พ.ค.56) จะได้กำไร 50% จากนั้นปี 56 ก็รอซื้อที่ดัชนี 1,287 เพื่อไปขายในปี 57 ที่ดัชนี 1,602 (29 ก.ย. 57) จะได้กำไร 25% หรือถ้ามองแบบรอบยาวๆ ซื้อที่ 1,376 จุดในปี 2557 แล้วไปขายที่ 1,850 จุด ในปี 2561 จะได้กำไรมากถึง 34%
กลยุทธ์ของการ ลงทุนหุ้น จึงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า ซื้อถูก – ขายแพง ครับ
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง :5 แอปหุ้น ตัวช่วยนักลงทุนยุคดิจิทัล