ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงทำเซอร์ไพรส์ปั๊มเงินเพิ่มขึ้นอีก 134,200 ล้านดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงินสหรัฐที่ยังคงมีความเสี่ยงจากความตึงตัวฉับพลันและที่มีทิศทางในความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง
หลังจากช่วงกลางเดือนกันยายนที่เกิดภาวะเงินตึงตัวฉับพลันในตลาดการเงินสหรัฐนั้นได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยช่วงข้ามคืนในตลาดซื้อบอนด์ (Repo) ของสหรัฐ พุ่งขึ้นทะลุระดับ 10%
ถึงแม้ว่าเฟดจะไม่ยอมรับว่ามาตรการอัดฉีดสภาพคล่องดังกล่าวเป็นการปั๊มเงินเพื่ออัดฉีด QE หรือ Quantitative Easing รอบใหม่แต่ทำเพื่อรักษาเสถึยรภาพในระบบธนาคารสหรัฐ
ทั้งนี้ เฟดได้เปิดเผบรายงานสิ้นสุดเดือนกันยายนมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่คลาดการเงินผ่านตลาด Repo จำนวนสุทธิ 200,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ฐานะงบดุลของเฟดอยู่ที่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเป็นภาระในงบดุลของเฟดที่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ที่เฟดรายงานว่ามียอดงบดุลอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์
ก่อนหน้าท่เฟดจะกลับมาอัดฉีดเงินรอบใหม่ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนั้น เฟดได้ทำการลดฐานะงบดุลที่พุ่งสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกู้วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐเมื่อปี 2008 จนต้องทำการดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาดการเงินสหรัฐ โดยใช้มาตรการ QT หรือ Quantitative Tightening เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก่อนประกาศยุติไปในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ในการอัดฉีดเงินของเฟดรอบล่าสุดจำนวน 134,200 ล้านดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงินสหรัฐนั้น เป็นการอัดฉีดผ่านตลาด Term Repo วงเงิน 45,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นช่วงข้ามคืน (Overnight) วงเงิน 89,200 ล้านดอลลาร์
ท่ามกลางแรงสนับสนุนทางด้านสภาพคล่องทางการเงินของเฟด แต่บรรยากาศของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงอ่อนตัวลง โดยที่ดัชนีดาวโจนส์ปิดวันพฤหัสฯ ที่ 26,805 ลดลง 28.42 จุด หรือลบ 0.11% ถึงแม้ว่า ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,010 เพิ่มขึ้น 0.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,185 เพิ่มขึ้น 0.81%
หลังจากการที่ 3M เผยรายได้ไตรมาส 3 ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ระดับ 7,990 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8,160 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มรายได้ทั้งปีนี้ราว 1.0-1.5%
ขณะที่หุ้นทวิตเตอร์ร่วงลง 20.81% จากที่บริษัทเปิดเผยรายได้ไตรมาส 3 ที่ 823.70 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 874 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากรายได้โฆษณาที่ลดลง
รวมถึงหุ้นอเมซอนที่ร่วงลงกว่า 9% หลังเปิดตลาดซื้อขายได้ไม่กี่ชั่วโมง โดยเฉพาะ Jeff Bezos บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกต้องสูญเสียมูลค่าหุ้นลดลงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสฯ เนื่องจากอเมซอนมีกำไรในไตรมาส 3 ลดลงเป็นครั้งแรกรอบ 2 ปี จากปัจจัยกดดันของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะการร่นระยะเวลาขนส่งสินค้าให้ทันใจลูกค้า
ส่วนทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของมาริโอ ดรากี ในฐานะประธาน ECB เมื่อวันพฤหัสฯ มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่เป็นอัตรารีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% หรืออาจปรับลดลง จนกว่าสัญญาณบ่งชี้การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ECB จะฟื้นโครงการซื้อบอนด์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ วงเงิน 20,000 ล้านยูโรต่อเดือน โดยจะดำเนินโครงการ QE ในระยะเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น
อีกทั้งยังเป็นการรับมือกับกรณี Brexit ซึ่งบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า จะให้เวลามากขึ้นกับรัฐสภาในการพิจารณาข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (EU) จากเดิมที่รัฐบาลให้เวลาเพียง 3 วัน
โดยที่รัฐสภาจะต้องให้การอนุมัติต่อญัตติของรัฐบาลในการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งหากเป็นไปตามการอนุมัติดังกล่าว ก็จะมีการประกาศยุบสภาในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้
หลังจากเมื่อวันอังคาร ซึ่งกรณี Brexit ส่งพิษป่วนการเมืองอังกฤษ หลังสภาผู้แทนราษฎรโหวตรับข้อตกลง Brexit เพื่อสกัดกั้นไม่ให้อังกฤษต้องออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง แต่สภากลับโหวตคว่ำเกี่ยวกับช่วงเวลาเร่งด่วนให้การถอนตัวซึ่งยืดเป็นเส้นตายเดิมในวันที่ 31 ตุลาคมตาม ที่เป็นข้อยืนยันของบอริส จอห์นสัน เพื่อเลื่อน Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 โดยมีข้อตกลง