HomeOpinionsกม.100 ปี “ล่าช้า-เปิดช่องโกง “ฉุด” ศก.” ถอยหลัง

กม.100 ปี “ล่าช้า-เปิดช่องโกง “ฉุด” ศก.” ถอยหลัง

อย่างที่รู้ๆกันว่ากฎหมายบ้านเราล้าสมัย ไม่ทันสถานการณ์เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างมาก โลกไปไกลแล้วแต่กฎหมายบ้านเรายังล้าหลังบางฉบับอายุน่าจะเกือบๆ 100 ปี ยังไม่เคยแก้ไขแม้แต่ครั้งเดียว หากจะยังต้องการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จริงๆก็ต้องรื้อ และ โล๊ะกฎหมายล้าหลังครั้งใหญ่อย่างจริงจัง

ในช่วงที่ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมคุมเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช.ใหม่ๆผลักดันนโยบายปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มี “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านกฎหมาย  นั่งเป็นประธานฝ่ายรัฐบาลคู่กับ “กานต์ ตระกูลฮุน” อดีตซีอีโอ.เอสซีจี. เป็นประธานฝ่ายเอกชนนำทีมตั้งเป้าว่า จะยกเลิกกฎหมาย 5000 ฉบับ ภายในสิงหาคม 2560 หวังว่าจะช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ถึงกับว่าจ้างบริษัทกฎหมายชื่อดังระดับโลกที่มีประสบการณ์ในการปฏิรูปกฎหมายในหลายๆประเทศจนประสบความสำเร็จ ทั้งเกาหลีใต้ เวียดนาม  เม็กซิโก มาช่วยวางแผน

แต่หลังจากประชุมใหญ่แถลงข่าวอึกทึกครึกโครม ไม่รู้ว่าคณะกรรมการชุดปฏิรูปกฎหมายคืบหน้าถึงไหน แต่อยู่ๆในช่วงปลายรัฐบาล “คสช.” เรื่องนี้ก็โผล่มาอีกครั้งแบบมึนๆ งงๆ จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน” โดยมี ” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นนั่งหัวโต๊ะ

[restrict]เนื้อหาสาระเป็น “การเตรียมยกเลิกและทบทวนกฎหมายท้องถิ่นและกฎหมายที่ไม่จำเป็น ทั้งประเทศ 7 แสนฉบับ ที่เป็นลูกตุ้มคอยถ่วงการพัฒนาประเทศ สิ่งที่ ดร.กอบศักดิ์ บอกว่ากฎหมายที่ไม่จำเป็นและต้องทบทวน แบ่งเป็นหมวดหมู่ ได้ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

- Advertisement -

ส่วนแรกประเภท กฎ ระเบียบ กฎกระทรวง คำสั่งอธิบดี ที่ไม่จำเป็น ต้องนำมาทบทวน เพราะทำให้การทำธุรกิจมีหลายขั้นตอน เกิดความล่าช้า ที่สำคัญจะนำไปสู่การจ่ายใต้โต๊ะ ส่วนที่ 2 คือ ยกเลิกกฎเกณฑ์ของส่วนท้องถิ่นหมายถึง กฎหมายที่เป็นกระบวนการ ขั้นตอน การขอใบอนุญาต ที่มีกฎเกณฑ์ยิบย่อย แต่ละส่วนท้องถิ่นมีกฎหมายของตัวเองต้องยกเลิก

ดร.กอบศักดิ์ฟันธงว่า กฎหมาย 7 แสนฉบับ จะลดให้เหลือ 6,500 ฉบับ ที่เป็นกฎเกณฑ์ของส่วนกลางเท่านั้น แล้วให้ท้องถิ่นนำไปใช้ปฏิบัติเหมือนกันทั้งประเทศ เริ่มจากนำกฎหมายการออกใบอนุญาต 1,000 ฉบับ ขึ้นมาแก้ไขก่อน อย่างเช่น ใบขับขี่ ใบอนุญาตนักบัญชี ใบอนุญาตก่อสร้าง ใบอนุญาตตัดไม้จะต้องดำเนินการภายในเวลา 6 เดือน คาดว่าคงจะแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง

จนถึงวันนี้ เลือกตั้งก็ผ่านมามาแล้ว จนมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ยังฝุ่นตลบ ดร.กอบศักดิ์ก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ก็ไม่รู้ว่ามีใครสานต่อหรือไม่

ในห้วงเวลาเดียวกัน ก็มีชุดที่สาม ที่มี”ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ที่กลับมาลงเรือแป๊ะอีกครั้งแบบเงียบๆ สวมบท ประธานคณะกรรมการปฏิรูปและขับเคลื่อนกฎหมายเร่งด่วน และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เพื่อมา “รื้อ” กฎหมายที่โบราณเก่าคร่ำครึ ล้าสมัยทิ้งไป ซึ่งตามแผนที่วางไว้ว่า ภายหลังแผนปฏิรูปกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะตั้งคณะกรรมการประจำกระทรวง 20 ชุด เพื่อปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย เริ่มตั้งแต่กฎหมายก่อนปี 2500 หรือกฎหมายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ภายใต้การปฏิรูปเรื่องใหญ่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การทำกฎหมายให้ดี ได้แก่ การเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น-ล้าสมัย สร้างภาระให้กับประชาชน 2.ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม และ 3.ทำให้ประเทศแข่งขันในโลกใบนี้ได้ ขอบข่ายกฎหมายที่จะถูกรื้อ เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มีจำนวน 1,300 ฉบับ กฎหมายลูก อาทิ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กฎกระทรวง จำนวนหลายแสนฉบับ และระเบียบ-หนังสือเวียนนับล้านฉบับ

แต่ทุกวันนี้ คณะกรรมการที่ปฏิรูปกฎหมาย ทั้ง 3 ชุด ที่เอ่ยถึงข้างต้นเงียบหายไปกับสายลมไม่รู้ว่ายังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ แต่ถ้าต้องหยุดทำหน้าที่ตามวาระของรัฐบาลคสช.ก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าโอกาสที่จะมาทบทวนเรื่องอย่างนี้จะมีอีกเมื่อไหร่

ต้องยอมรับว่า บ้านเรายังไปไม่ถึงไหน เพราะกฎหมายล้าสมัยเป็นอุปสรรคในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การปฏิรูปกฎหมายจึง เป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากกฎหมายเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับการบริหารบ้านเมือง

ถ้าจะปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยไม่ปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เศรษฐกิจเดินหน้า มีตัวอย่างให้เห็น 2 ประเทศ ที่เขาปฏิรูปกฎหมายแล้วทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอย่างทันตาเห็น นั่นคือ กรณีของเกาหลีใต้ได้ทำการปฏิรูปกฎหมายในปี 1999 ได้พิจารณาระเบียบ 11,000 ฉบับ โดยยกเลิกไปเกือบครึ่ง ได้สร้างงานใหม่ 1 ล้านตำแหน่ง จีดีพี.โตขึ้น เกือบ ๆ 5% ทันที

อีกตัวอย่างจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง และกำลังหายใจรดต้นคอเรา คือ เวียดนามได้พิจารณากฎระเบียบ 5,500  ฉบับยกเลิก 8.8% และปรับปรุงใหม่ 77 %  เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ทำให้ลดต้นทุนการดำเนินงานธุรกิจได้มหาศาล  ตอนนี้เศรษฐกิจเวียดนามเป็นอย่างไรใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งก็เป็น เพราะรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปกฎหมายนั่นเอง

หากจะให้เศรษฐกิจโตแบบทันตาเห็น ส่วนหนึ่งต้องปฏิรูปกฎหมายอย่างเร่งด่วน ตัวอย่างเกาหลีใต้ เวียดนามก็มีให้เห็น แต่เรายังไปไม่ถึงไหน เดี๋ยวตั้งเดี๋ยวยุบไม่ได้เดินหน้าเสียที[/restrict]

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News