น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 นี้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความยากจน ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่ช่วยลดความยากจนทั่วโลก และป้องกันการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ของประชาชนในสังคมโดยมีผู้รับรางวัลร่วมกันสามท่าน คือ อภิจิต บาเนอร์จี กับเอสเทอร์ ดูโฟล จากสถาบันเอ็มไอที สหรัฐฯ และไมเคิล เครเมอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
อย่างที่ทราบ”ความยากจน” เป็นปัญหาของหลายๆประเทศที่พยายามจะลดช่องว่างที่เหลื่อมล้ำ แต่มักแก้ไขไม่ถูกจุด ถึงแม้จะใช้วิธีแจกเงินหรือให้บริการสุขภาพฟรีอะไรก็ตามลงไปให้คนยากจน ในที่สุดก็ยังแก้ไม่ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแก้แบบหว่านแหซึ่งง่ายดีอีกอย่างพรรคการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง ยิ่งแก้คนจนก็ยิ่งจน ผลการวิจัย อธิบายว่า เพราะรัฐบาลหรือผู้ให้ไม่รู้ว่าจะต้องช่วยที่จุดไหนถึงจะตรงจุด และแก้ปัญหาได้
งานวิจัยชิ้นนี้เจาะลึกทั้งปัญหาที่ทำให้เกิดความยากจนและจะมีวิธีการช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้อย่างไรแทนที่จะหว่านไปทั่ว โดยใช้ Big data ช่วย เอกสารข่าวของราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการขจัดความยากจนทั่วโลก ในสองทศวรรษที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่านได้ทำการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์
เอกสารข่าวยังระบุอีกว่า แม้จะมีการแก้ไขความยากจนอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเด็นสำคัญของโลกก็ยังคงเป็นเรื่องการลดความยากจนในทุกรูปแบบ ประชากรโลกอีกกว่า 700 ล้านคนยังยากจนข้นแค้น ทุกๆ ปีมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนราว 5 ล้านคนเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันหรือรักษาได้โดยวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง และเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งของโลกต้องออกจากโรงเรียน โดยที่ขาดความรู้พื้นฐานการอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งนับเลขไม่ได้
งานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางใหม่ในการได้มาซึ่งคำตอบด้วยวิธีการที่ดีที่สุดในการขจัดความยากจนทั่วโลก คือ การแยกแยะประเด็นนี้ออกเป็นประเด็นย่อยๆ ไปถึงระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่านได้ร่วมกันแสดงให้เห็นว่าประเด็นย่อยหรือคำถามย่อยๆ ที่ตรงจุดจะได้รับคำตอบที่ดีที่สุดผ่านการทดลองที่ออกแบบมาอย่างรอบคอบสำหรับประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
ราวๆกลางทศวรรษ 1990 ศาสตราจารย์ไมเคิล เครเมอร์ และเพื่อนร่วมงาน ได้สาธิตให้เห็นว่าแนวทางนี้มีผลอย่างมาก ด้วยการทดลองในพื้นที่จริงเพื่อทดสอบว่า การแทรกแซงในหลายด้านนั้นสามารถปรับปรุงผลการเรียนในโรงเรียนในทางตะวันตกของเคนยาได้
ขณะที่ ศาสตราจารย์อภิจิต บาเนอร์จี และศาสตราจารย์เอสเทอร์ ดูโฟล ซึ่งทำงานร่วมกับ ศาสตรจารย์ไมเคิล เครเมอร์ ได้แสดงผลการศึกษาที่ใกล้เคียงกันในประเด็นอื่นๆ และในประเทศอื่นๆ โดยแนวทางการวิจัยเชิงทดลองของทั้งคู่ได้มีบทบาทในการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์อย่างมาก ผลที่ได้จากการศึกษา ได้เพิ่มความสามารถของแนวปฏิบัติในการแก้ไขความยากจน และ ส่งผลให้เด็กมากกว่า 5 ล้านคนในอินเดียได้รับประโยชน์จากแผนการเรียนที่มีประสิทธิภาพ
จะว่าไปแล้วผลวิจัยชิ้นนี้ได้ตีแสกหน้านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลนำมาใช้จนทำให้ประชาชนเสพติดแบบเลิกไม่ได้ด้วยการแจกฟรีหรือบริการฟรีกับทุกคนเหมือนๆกันหมดแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนได้ หากจะแก้จริงๆต้องมีBig Dataเข้ามาช่วยแยกแยะปัญหา ออกเป็นรายๆไป
อย่างไรก็ตามถ้างานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่านสารถแก้ไขความยากจนของคนคนจนทั้งโลกได้จริงๆ ย่อมถือเป็นความสำเร็จของมนุษย์ในการกำจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
อยากให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะหางานวิจัยนี้มาอ่านหรือเชิญนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลทั้งสามท่านนี้มาบรรยายให้กับผู้ทีเกี่ยวข้องกับความยากจนตั้งแต่รัฐมนตรีจนถึงข้าราชการทุกคน เผื่อจะได้หูตาสว่างขึ้นมาบ้าง