HomeEditor's Pickหนี้ท่วมโลก! ขวางเศรษฐกิจฟื้นตัวปี 2020

หนี้ท่วมโลก! ขวางเศรษฐกิจฟื้นตัวปี 2020

ปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่มีอุปสรรคจากปัญหาหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อความพยายามจะฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นมุมมองในบทวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ล่าสุด

สอดคล้องกับรายงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance) หรือ IIF ของธนาคารโลก เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าปัญหาหนี้ที่ทะยานสูงขึ้นจนท่วมโลกเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในตลาดการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะสหรัฐและจีนที่มีข้อพิพาททางการค้ารายใหญ่ในโลกที่นำไปสู่สงครามการค้าอย่างรุนแรงในระยะ 17 เดือนมานี้ กลายเป็น 2 ประเทศที่มียอดหนี้รวมกันสูงที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนมากถึง 60%

- Advertisement -

จากรายงานของ IIF คาดว่าหนี้โลกจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 255 ล้านล้านดอลลาร์ในสิ้นปี 2019 นี้ จากยอดหนี้ขณะนี้อยู่ที่ 250 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์จากจำนวน 243 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2018 โดยหนี้ดังกล่าวเป็นภาระของประชากรโลกที่มีอยู่ 7,700 ล้านคน มีหนี้ราว 32,500 ดอลลาร์ต่อคน

ขณะที่รายงานของ Bank of America ล่าสุดที่มีความแตกต่างกัน บ่งชี้ว่า นับตั้งแต่การลัมละลายของ Lehman Brothers หนี้ของรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์ หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นกว่า 25 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งหนี้ครัวเรือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 9 ล้านล้านดอลลาร์ และหนี้ของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์

โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังไม่ได้นับรวมภาระของธนาคารกลางที่เข้ามาอัดฉีดเงินเพื่อให้การสนับสนุนการบริหารของภาครัฐบาลในประเทศต่างๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นปัญหาความเสี่ยงใหญ่ที่สุดที่จะชักนำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามในอนาคต

คลื่นแห่งภาระหนี้สินท่วมโลกได้เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่นับจากช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งมีมากกว่า 100 ประเทศ โดยส่งผลต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในลาตินอเมริกาที่เกิดเป็นวิกฤติช่วงทศวรรษ 1980 และเกิดเป็นวิกฤติการเงินในกลุ่มประเทศในเอเชียช่วงปลายทศวรรษ 1990 ก่อนปิดฉากด้วยวิกฤติการเงินในประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2007 ถึงปี 2009

IIF ชี้อีกว่า คลื่นลูกที่ 4 ของยอดหนี้สินที่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาสัดส่วนสูงแตะระดับ 168% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP นับตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2018

นอกจากนี้ หนี้สินที่ท่วมสูงเป็นกองภูเขานี้ หากต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหา ก็จะยิ่งกดดันให้ระดับราคาในประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นการใช้เม็ดเงินที่ออกมาจากบรรดาธนาคารกลางที่ต้องดำเนินโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบที่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มีความยั่งยืน ราคาสินทรัพย์ถูกบีบให้ดิ่งลงอย่างรุนแรง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นได้มองเห็นกัยบ้างแล้วในญี่ปุ่น ในยุโรป แล้วกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก

IIF ได้โฟกัสไปที่หนี้สินของประเทศที่พัฒนาที่มียอดพุ่งสูงขึ้นมหาศาล มีจำนวนมากถึง 130 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของหนี้ทั่วโลก และเมื่อเทียบกับ GDP ทั่วโลกแล้ว มีสัดส่วนเท่ากับ 265% โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้สินของรัฐบาล 50 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 104% ของ GDP

ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าหนี้ราว 40% ของเอกชน (Corporate Debt) อยู่ในรูปหุ้นกู้ในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ทั้ง สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งมีจำนวน 19 ล้านล้านดอลลาร์ กำลังเป็นหนี้ที่มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะประสบปัญหาไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดเวลา ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว

ความกังวลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็คือการที่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เคยส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจากใกล้ 0% เป็น 2.5% เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ หรือ Normalization โดยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 9 ครั้ง

แต่แล้วในปีนี้เฟดต้องทำการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งพร้อมๆ กับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE 4 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และบทสรุปใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็อาจจะต้องกลับไปใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ 0% อีกครั้ง หากเกิดสัญญาณว่าเศรษฐกิจถดถอยกำลังตามเข้ามา

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News