สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันมีโปรแกรมพาน้องๆ ที่ทำงานเดินทางไปท่องเที่ยวหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ที่ สปป.ลาว หลายคนอาจจะเคยไปหลวงพระบางแล้ว เพราะ ‘ใกล้แค่นี้’ แต่สำหรับดิฉันและน้องๆ อีกหลายคน นี่คือการเดินทางไปหลวงพระบางเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งที่สองที่เคยไป สปป.ลาว เพราะก่อนหน้านี้ดิฉันเคยไปเวียงจันทน์ แต่ครั้งนั้นเป็นการเดินทางไปทำงานเกือบ 100% ขณะที่การไปหลวงพระบางครั้งนี้ คือ ตั้งใจท่องเที่ยว 100%
การตัดสินใจว่า จะเดินทางเอง จองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และกำหนดโปรแกรมท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ทำให้เราต้องวางแผน ทำการบ้าน ค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อกำหนดเป็นแผนการเดินทาง และแม้จะคิดว่าตัวเองวางแผนไว้ดีแล้ว แต่แน่นอนว่า ในทุกการเดินทางย่อมมีอุปสรรค มีปัญหา มีเรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ การเดินทางไป สปป.ลาวตลอด 3 วัน 2 คืน จึงมีเหตุการณ์ที่ดิฉันคิดว่า ถ้านำมาปรับใช้เรื่องการวาง แผนการเงิน ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย
ทุกการเดินทางต้องมี ‘เป้าหมาย’
ก่อนออกเดินทาง เราต้องมี ‘เป้าหมาย’ หรือจุดหมายปลายทางที่แน่นอนว่า เราต้องการเดินทางไปที่ไหน ซึ่งแน่นอนว่า ‘เป้าหมาย’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจ บางคนไปญี่ปุ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะชอบอากาศ ชอบอาหาร ชอบวัฒนธรรม บางคนชอบไปยุโรป เพราะชอบช็อปปิ้ง ขณะที่หลายคนมีเป้าหมายอยู่ที่อังกฤษ เพราะอยากดูบอลพรีเมียร์ลีกในสนามสักครั้งหนึ่งในชีวิต
‘เป้าหมาย’ จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญเท่ากับเราสามารถไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ บางคนตั้งเป้าหมายเล็กๆ มีความเป็นไปได้สูงและบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่บางคนตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ไว้ก่อน เพื่อเพิ่มความท้าทายให้ตัวเอง ถ้าถามดิฉันว่าแบบไหนถูกหรือผิด ก็ต้องตอบว่า ‘ไม่มีค่ะ’ แต่ถ้าถามว่า ควรจะตั้งเป้าหมายแบบไหน คำตอบก็คือ ควรตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงได้ หมายถึงเราสามารถทำได้จริง ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายได้จริง
เพราะการบรรลุเป้าหมายเล็กๆ หนึ่งครั้ง มันจะทำให้เรามีกำลังใจที่จะตั้งเป้าหมายใหม่ให้ยากขึ้น ท้าทายขึ้น น่าจะดีกว่าการตั้งเป้าหมายใหญ่เกินตัว แล้วทำไม่ได้ซักที แบบนั้นพอนานๆ ไป อาจจะทำให้เราท้อได้ค่ะ
ลองมีเป้าหมาย แผนการเงิน เก็บเงินในปี 2563 ให้ได้ 10% ของรายได้ ถ้าสิ้นปีนี้ทำสำเร็จ ปีถัดไปก็ลองขยับเป้าหมายเป็น 20% ของรายได้ดูค่ะ
ทุกการเดินทางต้องมีการ ‘วางแผน’
การเดินทางไปหลวงพระบางครั้งนี้ ดิฉันเลือกบินเที่ยวบินเช้า ติดต่อให้รถของโรงแรมมารับที่สนามบิน และวางแผนจัดโปรแกรมท่องเที่ยวตลอด 3 วัน 2 คืนด้วยตัวเอง
แน่นอนว่า ดิฉันไม่รู้จักหลวงพระบาง ไม่เคยไป แต่ทุกคนที่เคยไป บอกว่า ‘ง่าย’ เพราะนอกจากจะใช้เงินบาทแล้ว ทั้งคนไทยและคนลาวก็เกือบจะพูดภาษาเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้น ดิฉันก็ต้องวางแผนหาข้อมูลและคำแนะนำจากเพื่อนที่รู้จักกัน ว่าร้านอาหารไหนที่ควรทาน สถานที่ท่องเที่ยวแห่งไหนที่ควรไป
นอกจากจะถามเพื่อน เรายังสามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ด้วยการค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจากอินเทอร์เน็ต ใช้กูเกิล แมพ เช็คพิกัดว่าสถานที่แต่ละแห่งที่เราจะไปในแต่ละจุดนั้น อยู่ใกล้หรือไกลกันแค่ไหน ใช้เวลาเดินทางเท่าไหร่ เดินไปได้หรือต้องใช้บริการรถสาธารณะในเมือง หรือต้องเช่ารถออกนอกเมือง
การวาง แผนการเงิน ก็ไม่ต่างกันค่ะ เราต้องหาข้อมูลด้วยตัวเองว่า จะวางแผนทางการเงินให้เงินของเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร จะเดินไปด้วยการค่อยๆ เก็บสะสม หรือจะเดินสลับวิ่งให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น หรือจะใช้ความเร็วด้วยการวิ่ง เพื่อให้ถึงเป้าหมายเร็วที่สุด แต่อาจจะเสี่ยงกับการสะดุดล้ม
หรือถ้าทำเองไม่ได้ จะลองใช้บริการรถตู้เช่าเหมาคันหรือไกด์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น รู้จักพื้นที่ รู้แหล่งท่องเที่ยว หรือจะซื้อแพคเกจทัวร์ตั้งแต่แรก ไม่ต้องวางแผนเอง แค่บอกว่า ‘เป้าหมายอยู่ที่ไหน’ แล้วมอบหมายให้บริษัททัวร์วางแผนให้ คล้ายๆ กับผู้จัดการกองทุนมืออาชีพในโลกการเงิน ที่พร้อมให้บริการ แลกกับค่าแพคเกจที่เราต้องจ่าย
ทุกการเดินทางต้องมี ‘ความยืดหยุ่น’
เชื่อว่า หลายคนที่เดินทางท่องเที่ยว (หรือแม้แต่จะเดินทางด้วยการซื้อแพคเกจทัวร์) จะต้องเคยเจอกับคำว่า ‘กำหนดการเดินทางอาจเปลี่ยนแปลงได้’ ซึ่งทริปหลวงพระบางนี้ ดิฉันค้นพบว่า บางทีการเดินทางไปไม่ถึงเป้าหมายหรือเปลี่ยนแผนการเดินทาง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เรื่องของเรื่องคือ หนึ่งในเป้าหมายของทริปนี้คือ พระธาตุพูสี ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดไป 328 ขั้น โดยเมื่อขึ้นไปถึงด้านบนแล้ว นอกจากจะได้สักการะพระธาตุ ยังจะได้ชื่นชมเมืองหลวงพระบางแบบ 360 องศาอีกด้วย
แต่ด้วยความอ่อนล้าของร่างกายที่เดินทั่วเมืองมาทั้งวัน ทำให้เราเดินขึ้นไปได้แค่ครึ่งทาง คนที่เคยขึ้นไปแล้วบอกว่า เสียดาย น่าจะขึ้นไปให้สุด แต่ประเมินแล้วค่ะว่า จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะมีความเสี่ยงกับสภาพร่างกาย ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงขากลับลงมาด้วย
แผนการเดินทางปรับเปลี่ยนได้ แผนทางการเงินก็ปรับเปลี่ยนได้เช่นกันค่ะ เราสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้กับแผนการเงินของเราได้ แต่ไม่ถึงกับออกนอกเส้นทางหรือล้มเลิกทั้งหมด เรายังคงต้องรักษาวินัยทางการเงิน แต่เป้าหมายอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อประเมินว่า โอกาสแห่งความสำเร็จนั้นเราต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่า
ทุกการเดินทางต้องมี ‘ปัญหา’
ระหว่างทริปนี้ มีน้องในทีมคนหนึ่งที่ต้องเดินทางกลับก่อน เพราะมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นที่บ้าน อย่างแรกที่ต้องมี คือ “สติ” คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เริ่มจากการติดต่อโรงแรมให้ประสานงานกับสายการบินให้ว่า ถ้าต้องการเปลี่ยนเวลาบิน ทางสายการบินสะดวกหรือไม่ ปรากฏว่า ออฟฟิศของสายการบินไม่ทำงานวันเสาร์ ทางโรงแรมก็เลยอาสาพาไปติดต่อที่สนามบินและช่วยประสานจัดการทุกอย่างจนน้องคนนี้เดินทางกลับได้อย่างทั้งปลอดภัยและสบายใจ
นอกจาก “สติ” แล้ว ยังต้องมี “สตางค์” ด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงตั๋วเครื่องบิน หรืออื่นๆ ที่นอกเหนือจากแผน ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ดังนั้น ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดในเวลาฉุกเฉินเสมอ
แผนการเงิน ก็เช่นกันค่ะ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นทำให้แผนของเราสะดุด เราต้องมี “สติ” และต้องหาแผนสำรองเตรียมไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ต้องมีทุนสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้เสมอ เพราะเรื่องที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาค่ะ
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : เศรษฐกิจโลก 2020 กับ 4 ปัญหาใหญ่ที่ท้าทาย