การลงทุนที่ดีต้องมีกลยุทธ์ ซึ่งในความเห็นของผม กลยุทธ์การลงทุนนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียว แต่มีหลายวิธีหลายแนวทาง ที่สามารถนำพาไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้
หากเปรียบเทียบการลงทุนกับการปลูกพืชเพื่อหวังดอกหวังผล การเริ่มลงทุนก็เหมือนการเริ่มนำต้นไม้ลงดิน แต่ถ้าต้องการสร้างความมั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกจะเติบโตได้อย่างงดงาม ไม่ใช่ปลูกแบบเสี่ยงๆ ลองผิดลองถูก ก็จะต้องมีการคิดวางแผนตั้งแต่การคัดเลือกพืชพรรณที่จะนำมาปลูกให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ สภาพดิน และสภาพอากาศ
การลงทุนก็เช่นเดียวกันหากมีการวางแผนให้รอบคอบตั้งแต่แรกก่อนที่จะเริ่มลงทุนจริงก็จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าดอกผลจากการลงทุนจะงอกเงยอย่างงอกงาม
[restrict]สูตรเตรียมความพร้อมก่อนลงทุนในมุมมองของผม เป็นดังนี้ครับ
เริ่มจากการวางเป้าหมายก่อนเป็นลำดับแรก ว่าต้องการผลตอบแทนต่อปีซักกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป้าหมายนี่แหละครับที่จะเป็นตัวกำหนดประเภทของการลงทุนทั้งหลายทั้งปวง
เรื่องที่สองคือการเลือกช่องทางการลงทุนหรือชนิดของสินทรัพย์ที่จะลงทุน ที่สามารถจะนำพาเราไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
เรื่องที่สามซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งคือการแสวงหาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับชนิดของสินทรัพย์ที่จะลงทุน
และเรื่องที่สี่ คือการประเมินตัวเองว่ามีความพร้อมและความเหมาะสมกับประเภทของสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนหรือไม่
มาดูที่ขั้นตอนแรกซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ขั้นตอนที่สอง…ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด
ถ้าต้องการเพียงแค่เอาชนะเงินเฟ้อ ก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการฝากเงินกับสถาบันการเงินที่คุ้มครองเงินฝากก็สามารถสร้างผลตอบแผนในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อได้แล้ว แต่การฝากเงินที่เป็นการลงทุนนั้น ควรจะเป็นการฝากประจำ ไม่ใช่การฝากออมทรัพย์ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการฝากประจำก็จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ด้วย
แต่ถ้าต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่นมากกว่า 3% ต่อปี เงินฝากประจำปกติจะไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้แล้ว ต้องเป็นเงินฝากที่สถาบันการเงินบางแห่งสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ หรือต้องขยับไปลงทุนอย่างอื่นที่ไม่ใช่การฝากเงินปกติ เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ ประเภทหุ้นกู้ หรือตั๋วแลกเงิน ซึ่งอาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือลงทุนด้วยตนเอง
หากต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่านั้นอีก ก็ต้องมองหาการลงทุนประเภทตราสารทุน หรือลงทุนในหุ้น ผ่านกองทุนรวมที่เน้นหุ้น หรือลงทุนด้วยตนเองผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ
และหากต้องการผลตอบแทนที่สูงลิบลิ่ว ก็จะต้องขยับไปลงทุนตราสารอนุพันธ์ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงมาก พอๆ กับความเสี่ยงที่สูงลิ่วเช่นกัน
มาถึงขั้นตอนที่สาม คือการแสวงหาองค์ความรู้สำหรับการลงทุนในแต่ละประเภท
หากต้องการผลตอบแทนที่ดีจากการนำเงินไปฝากประจำกับสถาบันการเงิน ก็ค้นดูข้อมูลสักนิดว่าเงินฝากประจำแต่ละประเภทของแต่ละสถาบันการเงินให้ผลตอบแทนเท่าไร เพราะแต่ละสถาบันการเงินจะให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน แต่ความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงินจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกัน
หากต้องการลงทุนในตราสารหนี้ความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของผู้ออกตราสารจะเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นไม่สามารถมุ่งเน้นอัตราผลตอบแทนแต่เพียงอย่างเดียวได้เพราะหากผู้ออกตราสารมีความน่าเชื่อถือต่ำก็จำเป็นจะต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าผู้ออกตราสารที่มีความมั่นคงสูงและมีความน่าเชื่อถือสูง
การลงทุนในหุ้น ก็จะมีความซับซ้อนและความลึกในการแสวงหาข้อมูลมากขึ้นไปอีก โดยมีข้อมูลพื้นฐานหลักๆ คือ ประเภทธุรกิจ ผลการดำเนินงานในอดีตและแนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคต และยังต้องดูความต่อเนื่องของคณะผู้บริหาร รวมไปถึงความเหมาะสมของราคาหุ้นกับปัจจัยพื้นฐานของกิจการอีกด้วย
เมื่อเราผ่าน 3 ขั้นตอนที่ว่าแล้ว เราก็จะรู้ว่าตัวของเราเหมาะสมกับการลงทุนประเภทนั้นหรือไม่ ซึ่งบางคนรู้ตั้งแต่ยังไม่ใส่เงินลงทุนลงไปเสียด้วยซ้ำ แต่บางคนอาจจะต้องทดลองก่อน แล้วจึงจะรู้ตัวเอง
นักลงทุนที่เตรียมความพร้อมได้ดีย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดีด้วยครับ
[/restrict]