สถานการณ์เศรษฐกิจบ้านเรายามนี้อาจต่างจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 แบบหน้ามือกับหลังมือ แต่อยู่ในสภาพค่อยๆซึมลึกโดยที่เราไม่รู้ตัว จนมีคนเปรียบเปรยว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “ต้มยำกบ” มีหลายๆปัจจัยที่น่าห่วงและยังมีปัจจัยใหม่ๆเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
ปัจจัยแรก ที่พูดกันมานานและกำลังจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆนั่นคือ “หนี้ครัวเรือน” ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่หลายๆ ฝ่ายเฝ้ามองอย่างน่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูดจนเกือบแตะ 13 ล้านล้านบาทหรือประมาณ78.8% ต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และที่ 2 ในเอเชียรองจากเกาหลีใต้ ที่มีหนี้ครัวเรือนประมาณ 94% ต่อ GDP เท่านั้น
หากคลี่ไส้ในชำแหละออกมาดูยิ่งน่าห่วงหนี้ครัวเรือนไทย มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 32.5% ของหนี้ทั้งหมด และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสัดส่วนประมาณ 12% แต่อีกเกือบ 40% หรือประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท กลับมากระจุกตัวอยู่ใน “สินเชื่อส่วนบุคคล” อย่างที่รู้ๆกันว่าสินเชื่อส่วนบุคคลส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุนหรือสร้างรายได้ นั่นแปลว่า หนี้ส่วนใหญ่นี้จะเน้นไว้ใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยซื้อของกินของใช้ ของฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น
[restrict]หากจะดูภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคนับว่าค่อนข้างดี แต่ในระดับครัวเรือนนั้นถือว่า ยังเปราะบางอย่างมากจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรกเป็นตัวการสำคัญ ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 78.7% ของจีดีพีนั้น ยังไม่รวมหนี้ กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) และหนี้นอกระบบ แต่ถ้าไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ พบว่าสูงถึง 130-140% เพราะรายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และตัวเลขหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ภาคครัวเรือน เป็นการสะท้อนถึงหนี้ครัวเรือนของเรามีปัญหา ทั้งปริมาณและคุณภาพ
ปัญหาหนี้ครัวเรือนแสดงถึงรายได้ของชาวบ้านไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลังและมีการจับจ่ายใช้สอยเกินตัวจนต้องก่อหนี้ สถานการณ์เกือบจะเรียกว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ เศรษฐกิจประเทศไทยทุกวันนี้โตขึ้นด้วยหนี้ ยืมเงินในอนาคตมาจับจ่ายใช้สอย
อีกเรื่องที่น่ากังวลนั่นคือ “ค่าเงินบาทแข็งค่า” ขึ้น ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นๆ อ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ค่าเงินบาทกลับมีเสถียรภาพและแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลลบกับกลุ่มผู้ส่งออก อย่างมากเรียกว่า ส่งออกสินค้าทุกอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น ธุรกิจที่จะลงทุนจึงต้องมองหาช่องขายในประเทศเป็นหลักแม้ว่าจะต้องแข่งขันกันหนักหนาสาหัสก็ตาม อันเนื่องมาจากเค้กก้อนเท่าเดิมแต่มีคนมาแชร์มากขึ้น
ยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อพบว่าสินค้าที่กระทบหนักที่สุด คือ สินค้าเกษตร เพราะต้องขายในราคาตลาดโลกเป็นดอลลาร์ และบาทยิ่งแข็ง เงินดอลลาร์ ที่ได้รับจำนวนเท่าเดิม เมื่อแปลงเป็นเงินบาท ก็ยิ่งได้จำนวนบาทที่น้อยลง เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งจนลงหนักกว่าเดิม เพราะขายของไม่ได้ราคา จากเงินบาทแข็งค่านั่นเอง ดังนั้น ค่าบาทแข็ง และเงินทุนสำรองสูง เป็นภาพสะท้อนจุดอ่อนในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
ส่วนปัจจัยล่าสุด ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ นั่นคือ กรณี โรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท “ซาอุดี อารัมโก” ในแหล่งผลิตน้ำมันอับคิคและคูไรส์ ถูกโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ ได้สร้างความเสียหายต่อกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดของซาอุฯ ประมาณ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ กำลังการผลิตน้ำมันที่ลดลงของซาอุฯจะกระทบต่อซัพพลายน้ำมันทั่วโลกราว 5-6% เนื่องจากซาอุฯเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังการผลิตราว 10% ของการผลิตน้ำมันจากทั่วโลก ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งในการโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มุ่งทำลายแหล่งน้ำมันสำคัญของซาอุฯเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นการคุกคามเศรษฐกิจโลกอีกด้วย โดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำมัน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมันและการขนส่ง ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันภายในประเทศ
หมายความว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันที่ลดลงและราคาที่พุ่งทะยานสูงขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอและเปราะบาง จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งยากลำบากกว่าเดิมหลายเท่า ชาวบ้านจะเดือดร้อน ค่าขนส่ง ราคาสินค้าก็จะปรับขึ้น แม้รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มก็แค่ชั่วคราว หากภายในสิ้นเดือนนี้ยังฟื้นโรงกลั่นไม่ได้ ราคาน้ำมันกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศให้เลวร้ายหนักขึ้น
ฟันธงชนิดไม่ต้องกลัวธงหักว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในยามนี้น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มชะลอตัวลง แม้รัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวมกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ไม่เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจให้อยู่ได้ ประเทศไทยเราอยู่ในฐานะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลผสมชุดนี้ดูๆจะไร้เอกภาพ ขาดวิสัยทัศน์ที่จะตั้งรับสถานการณ์ในขณะนี้[/restrict]