สถานการณ์ “ฝุ่นจิ๋ว” หรือ “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” ได้เปลี่ยนฤดูกาลบ้านเราเป็น4ฤดูเรียบร้อยแล้ว จากเดิมมี ฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว ต้องเพิ่ม”ฤดูฝ่น”เข้าไปด้วย มิหนำซ้ำยังสร้างความตระหนกตกใจ และความหวาดผวาไม่น้อย
อันที่จริงปัญหาฝุ่นละอองไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่คราวนี้อาการหนักกว่าทุกครั้ง ตัวการใหญ่คือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รถปิกอัพราวๆ2ล้านคันที่วิ่งเพ่นพ่านรับส่งสินค้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล รองลงมาได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถบัสขนาดใหญ่ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งก่อสร้างรถไฟฟ้าและอาคารสูงแต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรเผาป่า เผาพืชไร่ ในปริมณฑลและต่างจังหวัดทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กปลิวมาได้ไกลๆอย่างไรก็ตาม ฝุ่นละออง PM 2.5 กว่า 60% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีสภาพเก่า มีควันดำ
ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่เราเจอกันแค่4-5 วันสร้างความเสียหายมากมาย แค่เรื่องเศรษฐกิจเรื่องเดียว มีผู้ประเมินว่าเสียหายไม่น้อยกว่า 6,600 ล้านบาททั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอนามัย.และเสียโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเห็นอย่างนี้ก็ไม่อยากเสี่ยงมาสูดควันพิษไปเที่ยวที่อื่นดีกว่า
ทำไมแค่ฝุ่นละอองจากควันดำรถยนต์เก่า แก้ปัญหาไม่ได้ เชื่อหรือไม่ว่า แค่ควันดำเรื่องเดียวหน่วยงานที่ดูแลมีทั้ง ตำรวจและกรมการขนส่ง-กรมควบคุมมลพิษ ต่างคนต่างจับ ใช้กฎหมายคนละฉบับ ด่านตรวจรถควันดำ รอบนอกกรุงเทพฯก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเพราะเวลาตรวจจับพบรถคันไหนควันดำ แทนที่จะออกใบสั่งแล้วให้หยุดวิ่งแต่ตรงกันข้ามหลังจากออกใบสั่งเสร็จก็ปล่อยให้วิ่งต่อไป
ด่านตรวจบางด่าน เจ้าหน้าที่ตัวดีเวลาจับแล้วตรวจจะเร่งเครื่องให้เครื่องยนต์มีควันดำมากขึ้นจะได้เป็นหลักฐานในการออกใบสั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของรถเก่าที่มีควันดำก็ไม่ยอมไปตรวจสภาพให้ถูกต้องเสียเวลาเปล่าๆ ยอมให้ด่านจับแล้วออกใบสั่งไหนๆก็ต้องโดนปรับอยู่ดี
อันที่จริงเจ้าหน้าที่ควรไปตรวจที่ขนส่งหรือที่อู่รถแทน หากพบรถคันไหนมีปัญหา ก็ให้เอาสีมาพ่นที่กระจกรถหรือตัวรถเป็นสัญญาลักษณ์ให้รู้ว่ารถคันนี้ควันดำไม่อนุญาตให้วิ่งต่อไป จนกว่าจะแก้ไขเป็นที่น่าพอใจ มิเช่นนั้นจะมีโทษอย่างรุนแรงจนเจ้าของรถเห็นว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยง อาจจะกระทบธุรกิจบ้างแต่ก็ต้องเด็ดขาดเพราะประชาชนก็เดือดร้อน
ส่วนกรณีที่บิ๊กตู่บอกว่าห้ามโรงงานซื้ออ้อยที่โดนเผาเข้าโรงงาน ต้องดูที่ต้นเหตุว่าทำไมถึงชาวไร่ต้องเผาเพราะแรงงานหายาก อีกอย่างถ้าไม่เผาอ้อยก็ตัดลำบากใบอ้อยทั้งคันทั้งคม จะใช้รถตัดก็ต้องลงทุนคันละ5-6ล้านบาท ถ้าไม่อยากให้เผาก็ต้องหาทางทำอย่างไรจะให้ชาวไร่อ้อยมีรถตัดอ้อย
ตรงนี้กลายเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่มีช่องทางทำมาหากิน ไปคอยดักจับ คนงานตัดอ้อยหรือ เจ้าของไร่อ้อยเสร็จแล้วก็เรียกเงิน แล้วก็ปล่อยกลับไปเผาเหมือนเดิม ตรงนี้ต้องหาทางออกร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยกับสังคมจะพบกันได้อย่างไร ต่อไปอาจจะกำหนดโซนนิ่งการปลูกอ้อย หรือให้ชาวไร่รวมกลุ่มกันแล้ว ธกส.ปล่อยกู้ให้ซื้อรถตัดอ้อยแล้วแบ่งกันใช้ หรือจะทำอย่างไรจะให้ลดการเผาลง
ที่สำคัญรัฐบาลควรจะผลักดันออก”กฏหมายอากาศสะอาด”มาแก้ปัญหาเพราะกฏหมายที่ใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เพราะ”ฝุ่นพิษ”เป็นปัญหาใหม่แต่กฏหมายที่ดำเนินการนั้นเป็นกฏหมายเก่า
เหนือสิ่งใด ทุกฝ่ายต้องเสียสละ ประชาชนก็ต้องป้องกันตัวเอง เช่น ใส่หน้ากาก อยู่ในอาคาร บรรดาต้นเหตุปัญหาทั้งหลายก็ต้องเสียสละให้เห็นแก่ส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
ในซีกรัฐบาลก็อย่าชะล่าใจปัญหาฝุ่นพิษอาจจะเป็นปัจจัยใหม่ที่จะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลตอนนี้เสียงบ่นไม่พอใจการแก้ปัญหารัฐบาลเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆถึงขั้นรวมตัวกันประท้วงก็มี อย่าลืมว่า คนที่เดือดร้อนคือคนในเมืองที่เสียงดัง