บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมที่จะผลักดันร่างข้อตกลง Brexit ฉบับที่เพิ่งได้ตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม หลังจากที่ต้องพบกับความพ่ายแพ้โดยไม่ได้รับการโหวตสนับสนนุนในวันเสาร์ที่ผ่านมา กลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้งในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษได้โหวตลงมติ 322 ต่อ 306 เสียง ให้เลื่อนตัดสินใจรับรองข้อตกลง Brexit ฉบับของบอริส จอห์นสัน โดยระบุให้ยับยั้งข้อตกลง Brexit ไปจนกว่าจะมีการผ่านร่างกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งหมดก่อน
ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษยืนยันในวันอาทิตย์ว่าการถอนตัวออกจาก EU ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จะยังคงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงแม้นายกรัฐมนตรีได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปยังอียู ตามที่ถูกรัฐสภากดดันให้ต้องดำเนินการเพื่อขอเลื่อนเวลา Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020
โดยไมเคิล โกฟ หนึ่งในคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า จดหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นข้อกำหนดที่จำเป็นต้องทำ แต่สภาผู้แทนราษฎรจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดดังกล่าวของบอริส จอห์นสัน อีกทั้งยังเป็นนโยบายและความตั้งใจของรัฐบาลได้
อย่างไรก็ตาม บอริส จอห์นสัน ก็จะพยายามทำให้ทุกอย่างจบลงตามกำหนดเวลาเดิม ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากทั้ง BBC และ Skynews ว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ปฏิเสธที่จะลงนามในจดหมายก่อนที่จะยื่นต่อ EU รวมทั้งได้แนบจดหมายอีกฉบับที่ส่งไปพร้อมกับจดหมายขอเลื่อนเวลา Brexit ซึ่งระบุถึงการที่ไม่ต้องการให้กระบวนการ Brexit ต้องล่าช้าออกไปมากกว่านี้แล้ว
มีการคาดการณ์ว่า บอริส จอห์นสัน ได้ส่งจดหมายออกไปถึง 3 ฉบับ ถึงโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป โดยจดหมายฉบับแรก เสมือนเป็นใบปะหน้าเขียนข้อความสั้นๆ จากผู้แทนของอังกฤษประจำ EU ว่ารัฐบาลอังกฤษกำลังทำตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนจดหมายฉบับที่ 2 เป็นสำเนาจดหมายของบอริส จอห์นสัน ที่มิได้มีการลงนาม ระบุเกี่ยวกับกฎหมายที่มีชื่อ พ.ร.บ.เบนน์ บังคับให้ต้องเขียนจดหมายขอเลื่อน Brexit ออกไป
สำหรับจดหมายฉบับที่ 3 เป็นการลงนามของนายกรัฐมนตรีที่มีเนื้อหายีนยันไม่ได้ต้องการให้ขยายเส้นตาย Brexit เพราะการเลื่อนออกไปจะส่งผลกระทบกับผลประโยชน์ของอังกฤษและสมาชิก EU รวมทั้งกระทบถึงความสัมพันธ์ของ 2 ฝ่าย
ความสับสนวุ่นวายในบรรยากาศทางการเมืองของอังกฤษต่อเรื่อง Brexit ได้หวนกลับมาอีก เหมือนช่วงเวลาของเทเรซา เมย์ ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดได้ส่งผลต่อค่าเงินปอนด์ร่วงลง 0.4% เทียบกับดอลลาร์ในเช้าวันจันทร์ แตะที่ระดับ 1.2910-1.2940 ดอลลาร์
จากการวิเคราะห์ของ Goldman Sachs คาดว่า การเคลื่อนไหวของเงินปอนด์สเตอร์ลิงยังคงเป็นได้ทั้ง 2 ด้าน หากเป็นผลในเชิงบวกก็มีโอกาสที่จะแข็งค่าที่ระดับ 1.35 ดอลลาร์ จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 1.30 ดอลลาร์
แต่หากมองในมุมลบจากความเสี่ยงในกรณีที่เป็น “no deal” แล้ว เงินปอนด์จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องไปแตะระดับ 1.27-1.28 ดอลลาร์
โดยเหตุผลล่าสุดของ Goldman Sachs เชื่อว่า ความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะออกจาก EU ในวันที่ 31 ตุลาคม โดยไร้ข้อตกลง Brexit หรือ “no deal” มีน้ำหนักที่ลดลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 10% เหลือเพียงแค่ 5%
นอกจากนี้ ได้มีการทบทวนความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจาเพื่อทำให้ข้อตกลง Brexit ใหม่ในโอกาสต่อไปมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 65% เป็น 70%