ผ่านด่านแรกในชั้นรับหลักการของสภาผู้แทนราษฏรไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563 ที่กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่กำหนดประมาณการรายได้เอาไว้ 2.73 ล้านล้านบาท และประมาณการยอดขาดดุลไว้ 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งดูจะแอบซ่อนชุดตัวเลขปริศนาไว้มากมาย
ในเบื้องต้นประมาณการรายได้ ถูกกำหนดขึ้นภายใต้สมมุติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงลิบลิ่วถึง 4.8 % ซึ่งย้อนแย้งกับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสถาบันเศรษฐกิจชั้นนำในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างสิ้นเชิง
แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2563 ในทัศนะของธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ที่ 3.7 %
ในทัศนะของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2563 ไว้ที่ 3.7%
สำหรับธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเติบโต 3.6% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวแค่ 3 %
การตั้งสมมุติฐานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อเป็นพื้นฐานคำนวณประมาณการรายได้ให้ดูสวยดี น่าจะหวังผลในการอำพรางความจริงที่น่าสะพรึงกลัวบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงว่าด้วยประมาณการรายได้
ภายใต้สมมุติฐานตัวเลขจีดีพีแบบโลกสวย ทำให้มีการประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเติบโตขึ้น 5.75% จากปีงบประมาณ 2562 เป็น 3.585 แสนล้านบาท-ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะงอกงามขึ้น 3.47% เป็น 7.27 แสนล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเบ่งบานขึ้น 6.93% เป็น 8.9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งประมาณการรายได้ที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มีค่าความเบี่ยงเบนสูงยิ่ง ว่าการเฉพาะตัวเลขจีดีพี ตามที่ปรากฏในเอกสารร่างพรบ.งบประมาณประจำปี 2563 ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ พบว่ามีลักษณะเพี้ยนเว่อร์ไปจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย-ธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟ โดยเฉลี่ยสูงถึง 25 % ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่าจะก่อเกิดความเสี่ยงที่ตัวเลขประมาณการายได้ทุกหมวด ทุกรายการจะพลอยเพี้ยนตามไปด้วยโดยปริยาย …
ถ้าประมาณการรายได้ที่กำหนดไว้เกิดเพี้ยนเกินจริงไปในอัตราสูสีกับอัตราความเบี่ยงเบนของตัวเลขจีดีพี นั่นย่อมหมายถึงว่าประมาณการรายได้ที่ควรจะเป็น และมีความใกล้เคียงความจริงมากที่สุดน่าจะต้องถูกลดทอนลง 25% มาอยู่แถวๆ 2.05 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.73 ล้านล้านบาท
ความจริงที่จะปะทุขึ้นตามมาอีกก็คือประมาณการยอดขาดดุลงบประมาณจะต้องไม่ใช่แค่ 4.69 แสนล้านบาท แต่มีความโน้มเอียงสูงที่จะเบ่งบานตะไทขึ้นไปชดเชยกับประมาณการรายได้ที่หดหายไป 6.8 แสนล้านบาท ทำให้ประมาณการยอดขาดดุลงบประมาณที่ควรจะเป็น และมีความใกล้เคียงความจริงมากที่สุด น่าจะขยับจาก 4.69 แสนล้านบาท ขึ้นไปอยู่แถวๆ 1.15 ล้านล้านบาท
การอุปโลกน์ตัวเลขจีดีพีประกอบการจัดทำงบประมาณให้สูงเว่อร์เกินจริง ไม่เพียงเปิดทางสะดวกแก่การทำ”ศัลยกรรมตัวเลข”ประมาณการรายได้เท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้อธิบายสัดส่วนตัวเลขการใช้จ่ายทุกหมวดทุกรายการ เมื่อเทียบกับจีดีพีที่สูงเว่อร์แล้ว….มันดูสวยดีอีกด้วย
ในเอกสารงบประมาณของสำนักงบประมาณอวดอ้างเป็นตุเป็นตะว่าจีดีพีปี 2562 โต 4.2% คิดเป็นมูลค่ารวม 17.003 ล้านล้านบาท ทั้งที่สถาบันเศรษฐกิจชั้นนำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจีดีพีปี 2562 โตได้อย่างเก่งไม่เกิน 3%
ทำนองเดียวกันในเอกสารงบประมาณฉบับเดียวกัน ก็ปั้นตัวเลขจีดีพีปี 2563 ไว้ที่ 4.8% แล้วคิดคำนวณออกมาเป็นมูลค่าจีดีพีรวมเสร็จสรรพถึง 17.82 ล้านล้านบาท ทั้งที่สถาบันเศรษฐกิจทั้งหลายพูดไปในทางเดียวกันว่าจีดีพีปี 2563 โตเฉลี่ย 3.6%
เมื่อนำเอาตัวเลขจีดีพีที่สำนักงบประมาณทำขึ้น มาเปรียบเทียบกับตัวเลขจีดีพีที่สถาบันเศรษฐกิจทั้งหลายคำนวณเอาไว้ จะทำให้มูลค่ารวมของจีดีพีปี 2562 ทรุดฮวบจาก 17.003 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 16.29 ล้านล้านบาท และมูลค่ารวมของจีดีพีปี 2563 ก็จะต้องถูกหั่นลงจาก 17.82 ล้านล้านบาท มาอยู่แถวๆ 16.88 ล้านล้านบาท
เมื่อมูลค่ารวมจีดีพีลดฮวบลง ตัวเลขสัดส่วนรายจ่ายต่อจีดีพีที่เคยดูสวยดี จะแปรเปลี่ยนไปในทันที !!!