ฟัง”กรณ์ จาติกวณิช”ส.ส. ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีตอนหนึ่งที่เสนอให้” ยกเลิกภาษีมรดก” ซึ่งใช้มาแล้ว 3 ปี แต่เก็บได้จากประชาชนเพียง 200 คน เม็ดเงินที่ได้แค่ 770 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียภาษีมรดกไม่ถึง 200 คนนี้เป็นผู้รับมรดกไม่ใช่ผู้ตาย หากนับผู้ตาย 1 คน จะมีผู้รับมรดกโดยเฉลี่ย 3-4 คน หมายความว่าเก็บภาษีมรดกจากผู้เสียชีวิตในรอบ 3 ปีนี้ได้เพียง 40 คน และ ไม่มีรายชื่ออภิมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตไปในช่วงนั้น
ต้องขีดเส้นใต้เน้นๆตรงคำว่า 40คนนี้ไม่มีรายชื่ออภิมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตในช่วงนั้น แม้แต่คนเดียว
กรณ์ ยังฉายภาพให้เห็นพฤติกรรมเศรษฐีไทยได้ชัดอย่างเจนว่า ใครรวยจริงหนีได้ มีช่องโหว่ให้หลบได้ ผู้ที่ต้องเสียภาษีคือผู้ที่หลบไม่เป็น หรือไม่ได้รวยจริง แทนที่ภาษีนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มันอาจจะเป็นเงื่อนไขที่จะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำซึ่งต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
ถ้าเป็นคนอื่นพูดก็อาจจะไม่มีน้ำหนัก แต่นี่คนระดับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดก็คงต้องฟัง ถอดระหัสออกมาแปลได้ว่า ภาษีมรดกเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่ได้มีน้ำยา3ปีเก็บได้แค่770ล้านเฉลี่ยปีละ 200กว่าล้านบาทเท่านั้น เทียบกับที่รัฐประมาณการรายได้จากการเก็บภาษี รวม 2.9 ล้านล้านบาท จิ๊บจ๊อย ต่างกันไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเท่า
ภาษีมรดกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เจตนารมณ์ของ คสช.รวมทั้งคนไทยที่หวังจะใช้เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนโดยกำหนดให้ทายาทที่รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10
เชื่อหรือไม่ จากข้อมูลของกรมสรรพากรระบุว่าในปีภาษี 2559 นับตั้งแต่มีกฎหมายเรื่องภาษีการรับมรดก กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้แม้แต่บาทเดียว
บรรดาเศรษฐีมีวิธีหลบเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีมรดกร้อยแปดวิธีตั้งแต่ยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สิน การผ่องถ่ายทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ คนระดับเศรษฐีมักจะมีผู้ช่วยบริหารทรัพย์สิน ที่ปรึกษากฎหมาย รวมถึงมีเครือข่ายที่ช่วยให้สามารถถ่ายโอนทรัพย์สิน ได้อย่างรวดเร็ว
ยิ่งคนรวยระดับหมื่นล้านแสนล้าน อาจจะใช้วิธีถ่ายโอนทรัพย์สินเงินทอง ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศแทนที่จะเก็บสะสมไว้ในประเทศ บางคนก็ใช้วิธีเปลี่ยนไปสะสมทรัพย์สินจำพวกที่ไม่ถูกประเมินภาษีมรดก อาทิ เงินสด เครื่องประดับ งานศิลปะ ฯลฯ หรือตั้งนิติบุคคล เพื่อให้เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินแทนตนเอง ซึ่งนิติบุคคลนั้นไม่มีวันตาย ไม่มีมรดก ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดก หรือวิธีง่ายๆอาจจะค่อยๆทยอยแบ่งให้ลูกหลานปีละ20ล้านเพื่อเลี่ยงบาลี
จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของกรณ์ที่เสนอให้ยกเลิกภาษีมรดก เพราะเมื่อมีแล้วไม่มีน้ำยาเป็นแค่เสือกระดาษไม่มีประโยชน์จะมีไปทำไมให้รกรุงรัง แถมเป็นภาระเสียทั้งเวลา เสียงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ที่ต้องเฝ้าติดตาม ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง
หลายๆประเทศที่เคยประกาศใช้ภาษีมรดกและได้ยกเลิกไปแล้ว เช่นจีน-ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนนาดา และนอร์เวย์เหตุผลเพราะต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกทั้งภาษีมรดกสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่าย
ที่สำคัญสร้างรายได้ให้รัฐได้น้อย
บางประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในแถบยุโรปที่ยังใช้อยู่ อาจเป็นเพราะบรรดาเศรษฐีเขามีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมสูง ส่วนความล้มเหลวในการจัดเก็บภาษีมรดกของไทยได้สะท้อนถึงจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมหรือการปฏิบัติตามต่อกติกาของเศรษฐีไทยนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดินเมื่อเทียบกับอัตราที่จัดเก็บสำหรับเศรษฐีไม่ได้มากมายอะไรและยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ อาจจะยังไม่ดีพอ
น่าเสียดายอย่างยิ่งในที่สุดกฎหมายภาษีการรับมรดกที่คนไทยเฝ้ารอก็ไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศที่จะใช้เป็นกลไกที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้