HomeOpinions‘อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน’ นั้น สำคัญไฉน?

‘อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน’ นั้น สำคัญไฉน?

สัปดาห์ก่อนเพิ่งเขียนเรื่อง ‘เจ้าหนี้’ กับ ‘เจ้าของ’ และแตะๆ ไปที่เรื่องของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนด้วย ก็ปรากฏว่ามีข่าวที่สร้างความงุนงงสงสัยให้กับแวดวงการลงทุนเกี่ยวกับหุ้นกู้ประเภทนี้ขึ้นมาพอดี จึงขออรรถาธิบายในภาพกว้างเรื่องของหนี้สินกับทุน หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเสียเลย

เริ่มจากเรื่องตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ชื่อว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน กันก่อนครับ

ชื่อบ่งบอกว่าเป็น “หุ้นกู้” นั่นคือประเภทหนึ่งของตราสารหนี้ ผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารประเภทนี้จึงมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนก่อน “เจ้าของ” หรือ “ผู้ถือหุ้นสามัญ” ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย

- Advertisement -

คำว่า “ด้อยสิทธิ” ก็คืออันดับการได้รับชำระหนี้คืนจะต่ำกว่าหุ้นกู้ที่ไม่ด้อยสิทธิ 

ส่วนคำว่า “ที่มีลักษณะคล้ายทุน” ก็คือ หุ้นกู้ประเภทนี้ไม่มีกำหนดอายุ ต้องถือไปเรื่อยๆ ยกเว้นว่าผู้ออกหุ้นกู้ประเภทนี้จะใช้สิทธิไถ่ถอน หลังจากครบปีที่ 5 ขึ้นไป 

แต่ในทางการลงบัญชีหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ไม่ได้ลงบัญชีเป็นหนี้สินแต่อยู่ในบัญชีด้านทุนซึ่งย่อมส่งผลดีต่อตัวบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นี้ในเรื่องของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่จะไม่สูงเกินไป

ประเด็นที่เกิดเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน เพราะบริษัทผู้สอบบัญชียักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งออกมาบอกว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ ในปี 2563 ตามมาตรฐานการลงบัญชีแบบใหม่ จะนับเป็นหนี้แล้วนะ ไม่นับเป็นทุน ก็เลยทำให้เกิดการแตกตื่นกันใหญ่ ทั้งๆ ที่บริษัทนี้ก็หากินกับการเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีให้กับบริษัทที่ออกหุ้นกู้เหล่านี้เองนั้นแหละ

บางบริษัทก็ขอคำปรึกษา (จ่ายตังค์แพงด้วยนะครับ ไม่ได้ปรึกษาฟรี) จากบริษัทสอบบัญชีแห่งนี้แล้วว่า เขาจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเสนอขายในช่วงนี้ ถ้าเขียนเงื่อนไขแบบนี้ จะนับเป็นทุนได้ 100% ใช่ไหม ผู้สอบบัญชีรายนี้ก็ยืนยันหนักแน่นว่า เป็นทุนแน่ๆ ไม่ได้อยู่ฝั่งหนี้ แต่ก็ยังออกมาให้ข่าวสร้างความปั่นป่วนในตลาด แบบที่ไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร

เรียกว่าเสิร์ฟเอง ชงเอง ตบเอง เสร็จสรรพ เหมือนกับจะบอกว่าต่อไปใครจะออกหุ้นกู้ประเภทนี้แล้วอยากลงบัญชีเป็นทุน ไม่เป็นหนี้ ให้รี่มาหาเค้านะ ทำนองนั้น 

สรุปก็คือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่อาจจะถูกนับเป็นหนี้ไม่เป็นทุนต่อไปแล้วเป็นของเก่าที่ออกอยู่แล้วในตลาดไม่เกี่ยวกับของใหม่ที่กำลังจะเสนอขายแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวว่า มาตรฐานบัญชีกรณีนี้จะถูกเลื่อนบังคับใช้ไปอีก 3 ปี  

ย้ำอีกที ถึงจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทเหล่านี้

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกเขาเคยออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเมื่อ 5 ปีก่อนโดยจะครบ 5 ปีเต็มในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ซึ่งบริษัทก็ได้ใช้สิทธิในการไถ่ถอนเรียบร้อยแล้วจึงไม่ได้มีปัญหาอะไรในการลงบัญชีในขณะที่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนชุดใหม่ที่กำลังจะเสนอขายวันที่ 4-7 พฤศจิกายนนี้ได้ร่างข้อกำหนดสิทธิที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่และสามารถลงบัญชีหุ้นกู้กึ่งทุนนี้เป็นส่วนทุนได้ 100%

เช่นเดียวกับบริษัทบี.กริมเพาเวอร์จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนชั้นนำของไทยและของภูมิภาค ที่จะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ในช่วงวันที่ 19-21 พฤศจิกายนนี้ และ บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ที่จะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ในช่วงวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ ก็ไม่มีประเด็นที่ต้องกังวลเกี่ยวกับการลงบัญชีเช่นกัน เพราะได้ยึดตัวบทของมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้ลงบัญชีเป็นทุนได้ 100% ตลอดไป 

อย่างไรก็ตามในมุมของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเช่นทริสเรทติ้งเขาจะนับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้เป็นส่วนทุน 50% ในช่วง 5 ปีแรกหลังจากนั้นจะนับเป็นหนี้ทำให้อันดับความน่าเชื่อถือจะถูกกระทบกระเทือนนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมบรรดาผู้เชี่ยวชาญการลงทุนจึงเชื่อว่าผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจะใช้สิทธิไถ่ถอนเมื่อครบ 5 ปีแล้ว

ทีนี้มาถึงเรื่องของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือดีอีเรโช ว่าทำไมจึงต้องใส่ใจประเด็นนี้กันนักหนา 

อธิบายได้ง่ายๆว่าเพราะคนที่มีหนี้สินเยอะย่อมมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าคนที่มีหนี้สินน้อย 

เวลาที่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อจึงต้องเช็คผู้ขอกู้ก่อนว่า มีหนี้เดิมอยู่เยอะมั้ย โดยเข้าไปตรวจสอบจากเครดิตบูโร ถ้าเห็นว่ามีหนี้เยอะเกินไปเมื่อเทียบกับทุน ก็จะไม่ค่อยอยากปล่อยกู้ ถ้าจะปล่อยก็จะเรียกดอกเบี้ยสูงๆ ต่างจากบริษัทหรือคนที่มีหนี้น้อย มักได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า  

นอกจากนี้ การขอสินเชื่อบางประเภท จะมีข้อกำหนดไว้เลยว่า D/E ของบริษัทนั้นต้องไม่เกินกี่เท่า และถ้าเกินจะต้องถูกเรียกหนี้คืนทันที อย่างนี้เป็นต้น

คงคลายข้อสงสัยเรื่องความสำคัญของดี/อีรวมถึงเรื่องหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนกันแล้วใช่ไหมครับ 

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : BGRIM ยันมาตรฐานบัญชี TAS32 ไม่กระทบหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ พร้อมเปิดจอง 19-21 พ.ย. นี้

 

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News