จับตา 2 ธนาคารกลางทรงอิทธิพลโลกยังคงเน้นนโยบายทุ่มเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดการเงินในประเทศ หวังแก้ปัญหาเงินตึงตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และรับมือผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
รวมถึงมีรายงานในเช้าวันนี้เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน (PBOC) อย่างต่อเนื่องด้วยการลดดอกเบี้ยไพรม์เรตจาก 5.44% มาอยู่ที่ 5.34% ขณะที่การให้สินเชื่อของ PBOC ในเดือนล่าสุดมีวงเงินสูงถึง 5 ล้านล้านหยวน ซึ่งนับเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินมากที่สุดเข้าสู่ตลาดการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องอัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องตลาดการเงินในสหรัฐต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ เฟดได้อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีก 113,700 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากการเพิ่มวงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อซื้อบอนด์รัฐบาลสหรัฐเพื่อกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่มีแนวโน้มสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020 นี้
นอกจากนี้ ในช่วง 2 เดือนมานี้ เฟดยังได้เข้าซื้อหลักทรัพย์เป็นวงเงินสูงถึง 151,600 ล้านดอลลาร์
เฟดคาดว่า ข้อมูลเศรษฐกิจจะบ่งชี้ในไม่ช้านี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นรวดเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบเนื่องจากมีความไม่แน่นอนจำนวนมาก ขณะที่จีนได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม เฟดจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ รวมทั้งจะเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวจำนวนมากในโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยมาตรการดังกล่าวนี้ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเป็นสิ่งที่เฟดเคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินปี 2008 แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการนำมาใช้ดำเนินการ
ทั้งนี้ ประธานเฟดเตือนว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฟดกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และผลกระทบที่มีต่อจีน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้หันมายึดเป้าหมายใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น แทนการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
BOJ ประกาศละทิ้งนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ยึดเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย หลังจากที่เงินเฟ้อในญี่ปุ่นได้พุ่งชึ้นสู่ระดับ 2.0% แล้ว แต่นับจากนี้ไป BOJ ยืนยันจะไม่ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้ออีกต่อไป
เพราะต้องการดำเนินนโยบายการเงินที่ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับภาวะถดถอยในช่วงสั้น หลังจากที่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นต้องพบกับเศรษฐกิจที่หดตัวลงถึง 6.3% จากการขึ้นภาษีการขาย หรือ VAT ซึ่งส่งผลกระทบโดยกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ทรุดตัวลง
ดังนั้น BOJ ภายใต้การนำของฮารุฮิโกะ คุโรดะ จะได้รับการต่ออายุเป็นผู้ว่าการ BOJ อีก 1 เทอมหลังครบเทอมสิ้นเดือนเมษายนปีนี้ เพื่อสานต่อนโยบายเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณที่มีเป้าหมายอัดฉีดเงินปีละ 80 ล้านล้านเยซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2015
รวมทั้งนโยบายดอกเบี้ยติดลบ จนทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นภาวะเงินฝืดในช่วง 2 ทศวรรษก่อหน้านี้ ขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกยังคงมีเม็ดเงินคงค้าง 13 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบ
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงหนักหน่วงขณะนี้ ถูุกจับตามองใน 3 ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกเป็นห่วงคือ 1. การบริโภคที่ชะลอตัวลงของประชาชนที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว 2 .เกิดภาวะลดการใช้จ่ายด้านเงินทุนของภาคธุรกิจ และ 3. ปัญหา Supply Chain ที่เกิดภาวะขาดแคลน
ล่าสุด Morgan Stanley คาดเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้เพียง 3.5% ไตรมาสแรกปีนี้ เป็นกรณีเลวร้ายสุด หากไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้จนถึงเดือนเมษายน หลังจากโนมูระ ฟันธงเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกจะขยายตัวที่ 3.0%
ทั้งนี้ จีนได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น 118 รายสู่ระดับ 2,236 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวน 889 ราย เป็นยอดรวม 75,465 รายสำหรับวันพฤหัสฯที่ 20 กุมภาพันธ์
Morgan Stanley คาดว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตของจีนชะงักงันไประยะหนึ่ง แต่ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมได้กลับมาเดินเครื่อง 30-50% ของระดับปกติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับ3.5%ในไตรมาสแรกนี้
โดยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันํ์นี้ จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60-80% และเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติในช่วงกลางเดือนมีนาคม แต่ทั้งหมดทั้งปวงยังคงขี้นอยู่กับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ Morgan Stanley ได้วาดภาพเศรษฐกิจจีนเป็น 3 Scenarios ซึ่ง Scenario แรกถือเป็นกรณีที่ดีที่สุด คือ การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยจีนสามารถควบคุมนอกเขตมณฑลเหอเป่ยได้ หลังจากนั้นเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในไตรมาสแรกที่ 5.3% ส่งผลทั้งปีนี้ชยายตัวที่ 5.9% โดยเป็นการขยายตัวช่วงครึ่งปีแรกที่ 5.6% และครึ่งปีหลังขยายตัวที่ 6.2%
สำหรับ Scenario 2 นั้น เป็นระดับพื้นฐานที่ขยายตัวได้ที่ 4.2% คือ การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งจีนสามารถควบคุมนอกเขตมณฑลเหอเป่ยได้ โดยจะส่งผลให้ทั้งปีนี้ชยายตัวที่ 5.7% โดยเป็นการขยายตัวช่วงครึ่งปีแรกที่ 5.0% และครึ่งปีหลังขยายตัวที่ 6.3%
ขณะที่ Scenario 3 ถือเป็นภาพเลวร้ายที่สุดซึ่งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาขยายวงออกไปจนถึงเดือนเมษายน ก็จะทำให้เศรษฐกิจจีนนอกมณฑลเหอเป่ยขยายตัวในไตรมาสแรกที่ 3.5% ส่งผลทั้งปีนี้ขยายตัวที่ 5.6% โดยเป็นการขยายตัวช่วงครึ่งปีแรกที่ 4.6% และครึ่งปีหลังขยายตัวที่ 6.5%