ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ล้วนมี “เหตุ” และ “ผล” แม้แต่เรื่องลี้ลับดำมืด หรือเป็นเรื่องราวที่เราบอกกันว่า “หาคำอธิบายไม่ได้” แต่ถึงอย่างไรก็มีเหตุของผลนั้นอยู่ดี เพียงแค่เรายังหาคำตอบของเหตุไม่พบเท่านั้นเอง
ในอดีต ยุคที่ผู้คนยังด้อยการศึกษา เราพบว่า มีเรื่องราวที่เป็นปริศนาหรือหาคำตอบไม่ได้เต็มไปหมด ซึ่งต่อมาแต่ละเรื่องก็ถูกคลี่คลายลงได้ด้วย “องค์ความรู้”
เราเพิ่งรู้และเชื่ออย่างไร้ข้อโต้แย้ง ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นทรงกลม ไม่ใช่ทรงแบน ก็เมื่อไม่กี่พันปีมานี้เอง (และก็ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่รู้ว่าโลกกลม มีคนจำนวนไม่น้อยในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ที่ยังคิดว่าโลกแบนอยู่เลย)
ถ้าอธิบายด้วยหลักของเหตุและผล คนที่บอกว่าโลกแบนก็จะให้เหตุผลง่ายๆ ว่า คนเราไม่สามารถทรงตัวหรือดำรงชีวิตบนวัตถุทรงกลมได้ เมื่อผลคือคนยืน เดิน วิ่ง บนโลกได้ เหตุก็คือ เพราะโลกแบน ดังนั้น ผู้ที่บอกว่าโลกกลมก็ต้องไปหาคำตอบมาแก้ต่างให้ได้ จนได้ค้นพบเรื่องแรงดึงดูดของโลก
ที่ผมยกตัวอย่างมายืดยาว ก็เพื่อจะตอกย้ำว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ล้วนมีเหตุและผล เพียงแค่ว่าเราหาคำตอบกันเจอหรือยังเท่านั้น และที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ คำตอบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคน
ถ้าทุกคนมีคำตอบเหมือนกัน รู้เท่ากัน เวลาเราทำบททดสอบต่างๆ ก็ต้องได้คะแนนไม่แตกต่างกัน ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเรายังสามารถคัดแยกได้ว่าใครเรียนเก่งเรียนไม่เก่ง ใครตอบถูกตอบผิด ใครรู้ใครไม่รู้
ในเรื่องของเศรษฐกิจการลงทุนก็เช่นกันครับ
แม้เราสามารถหาคำตอบได้ว่า ทำไมหุ้นจึงควรจะขึ้น หรือควรจะลง เช่น เหตุจากเศรษฐกิจแย่ กำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง ผลคือหุ้นควรจะตก หรือ เหตุจากดอกเบี้ยลด เงินไหลออกจากตลาดเงินไปสู่ตลาดทุน ผลคือหุ้นควรจะขึ้น แต่ในสภาพของความเป็นจริง ราคาหุ้นอาจไม่ได้มีทิศทางแบบที่เราคิด เพราะตัวเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่ซื้อหรือขายหุ้นนั้น ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เขาเข้ามาซื้อหรือขาย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการขึ้นลงของหุ้น คือ “คนอื่นเขาคิดและเชื่ออย่างไร”
ถ้าเรายึดเฉพาะองค์ความรู้ของเรา มั่นใจในทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วตัดสินใจทำลงไปโดยไม่สนใจมุมมองของคนอื่น โอกาสผิดพลาดจะมีสูงมาก โดยเฉพาะการผิดจังหวะ ผิดเวลา เพราะแม้ทางทฤษฎีแล้ว เหตุแบบนั้น ผลควรจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้า ณ เวลานั้นคนส่วนใหญ่เขาคิดตรงกันข้าม ทำตรงกันข้ามกับที่เราคิด การเปลี่ยนแปลงในตลาดระยะสั้นก็ย่อมตรงข้ามกับที่เราคิด นั่นคือ การพลาดโอกาส หรือจังหวะที่สำคัญ
เช่น เราคิดว่าหุ้นต้องลงแน่ๆ เพราะเศรษฐกิจแย่ เลยขายหุ้นเกือบเกลี้ยงพอร์ต ในขณะที่คนอื่นเขาคิดว่า ดอกเบี้ยจะลด หุ้นต้องขึ้นแน่ๆ เขาก็แห่ซื้อกันใหญ่ ก็กลายเป็นว่าคนที่ขายกลายเป็น “ขายหมู”
หรือในกรณีที่ราคาหุ้นบางตัว ราคาลดลงมามากเพราะประกาศผลการดำเนินงานออกมาแย่ แต่เรารู้ว่าเป็นการแย่แค่ชั่วคราว ในไตรมาสต่อไปกำไรจะดีขึ้น ราคาหุ้นปัจจุบันจึงลดลงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน เราก็เข้าซื้อทันที ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังมีอารมณ์ค้างกับผลงานที่แย่เกินกว่าคาด และเทขายหุ้นนั้นอยู่เลย แบบนี้ก็ทำให้คนเข้าซื้อได้ต้นทุนที่สูงเกินจริง แทนที่จะซื้อได้ราคาถูกกว่านั้น
“เหตุ” และ “ผล” สำคัญที่สุดของการขึ้นลงของราคาหุ้น จึงไม่ใช่เหตุผลทางทฤษฎี แต่เป็นเหตุผลแบบกำปั้นทุบดิน คือ “หุ้นไม่ลงเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ขาย” และ “หุ้นไม่ขึ้นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ซื้อ” หรือ “หุ้นขึ้นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่เข้าซื้อเพราะเชื่อว่ามันจะขึ้นต่อ” และ “หุ้นลงเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ขายเพราะคิดว่ามันจะลงต่อ”
ถ้านักลงทุนเข้าใจใน 4 ประโยคนี้อย่างลึกซึ้ง ผมเชื่อว่าจะมีความสุขกับการลงทุนในหุ้นขึ้นอีกมากเลยครับ