HomeOpinionsลูกหนี้ 4 แบบ

ลูกหนี้ 4 แบบ

สัปดาห์ก่อน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือบัตรเคทีซี ส่งจดหมายเชิญให้ไปร่วมฟังเสวนาเรื่อง “จับเข่าคุย เล่าความเสี่ยงหนี้นอกระบบ” สารภาพตรงๆ ว่าอยากไปฟัง เพราะตั้งแต่รับหน้าที่เป็นกรรมการในรายการ “ทีเด็ดลูกหนี้” จนล่วงเข้าปีที่ 5 แล้ว ชีวิตเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับหนี้นอกระบบแบบแทบจะแยกร่างไม่ออก แต่เสียดายว่าเวลาไม่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่สามารถปลีกเวลาไปฟังได้ แต่ถึงกระนั้น ทางบัตรเคทีซีก็ยังช่วยเอื้อเฟื้อส่งข้อมูลงานเสวนาวันนั้นมาให้ค่ะ

ประเด็นที่น่าสนใจในงานวันนั้น แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการให้ข้อมูลของผู้บริหารบัตรเคทีซี คือ คุณชุติเดช ชยุติ ซึ่งเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ ซึ่งพูดถึง “เครื่องมือและกลไกในการแก้หนี้นอกระบบ” ส่วนที่สอง เป็นการให้ข้อมูลโดยคุณพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้ ที่เล่าให้ฟังถึงกระบวนการติดตามหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป

มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ และคิดว่า ทั้งคนที่เป็นหนี้ (นอกระบบ) อยู่แล้ว และคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่วงการ ควรจะรับรู้รับทราบไว้บ้างก็ดีค่ะ

- Advertisement -

ความน่าสนใจของ “คนที่ติดตามหนี้” จากมุมมองของคุณพรเลิศ อยู่ตรงที่ว่า ปัจจุบันการติดตามหนี้ จะต้องลุ่มลึกด้วยข้อมูล และรู้ให้ทันพฤติกรรมของลูกหนี้ คุณพรเลิศแยกแยะลูกหนี้ออกเป็น 4 ประเภท โดยประเภทแรกมีสัดส่วนราว 35% ของลูกหนี้ทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความเสี่ยง เพราะเป็นกลุ่มคนทำงานบริษัทที่ส่วนใหญ่รอเงินเดือนออกแล้วจึงนำมาชำระหนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาชีพเสริมหรืออาชีพรอง ซึ่งถึงแม้ยังไม่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยง แต่ก็ต้องคอยติดตามว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับคนกลุ่มนี้ จากหนี้ที่ดีก็อาจจจะกลายเป็นหนี้เสีย และกลายเป็นหนี้ค้างชำระได้

ลูกหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ผู้ให้บริการติดตามหนี้บอกว่า “ก็ยังไม่เสี่ยง” (แต่ดิฉันแอบเริ่มเป็นห่วง) คือ กลุ่มที่ไม่ค่อยสนใจ ละเลย ไม่มีวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 34% ส่วนอีก 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริง คือ กลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว ติดวัตถุนิยม หรือมีพฤติกรรมหมุนหนี้ คือ กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ที่หนึ่งไปชำระคืนให้แหล่งเงินกู้เดิม และกลุ่มสุดท้าย อาจจะมาจากความไม่มีจริงๆ คือ ไม่มีงานทำ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้

หลังจากแยกลูกหนี้ได้แล้ว บริษัทที่ติดตามหนี้บอกว่า จะใช้วิธีการติดตามที่เรียกว่า Virtual Collector แปลง่ายๆว่า เป็นการติดตามหนี้เสมือนจริงแทนการใช้กำลังคน ซึ่งได้ผลกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า

การติดตามเสมือนจริงที่ว่านี้ จะทำผ่าน 4 เครื่องมือ นั่นคือ ส่งข้อความเอสเอ็มเอส ส่งจดหมาย ส่งอีเมล์ และสุดท้ายคือ การส่งเสียงที่บันทึกเทป เป็น “วอยซ์ บรอดแคส” (Voice Broadcast) ที่ลูกหนี้จะกดฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ได้ หรือเมื่อฟังแล้ว อยากสนทนากับเจ้าหน้าที่ ก็สามารถเลือกกดเพื่อเริ่มต้นการสนทนา เป็นความลงตัวแบบพอดีๆ ระหว่างคนติดตามหนี้กับลูกหนี้ ที่ไม่รบกวนกันและกันมากเกินไป

ทีนี้ในส่วนของลูกหนี้ ลองพิจารณาดูนะคะว่าเราอยู่ตรงไหนใน 4 กลุ่ม เป็นกลุ่มเสี่ยงน้อยหรือเสี่ยงมาก แล้วดูกันต่อว่าเราควรจะต้องทำอย่างไร

ส่วนตัวแล้วบอกตามตรงว่า ชอบที่คุณพรเลิศบอกว่า สำหรับคนที่ภาระหนี้เริ่มขึ้นแล้ว และถูกติดตามหนี้จากผู้ทวงถามหนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องจ่ายคืน จะได้มีความสุข ไม่ถูกติดตามหนี้ แต่ถ้าไม่สามารถจ่ายคืนได้ คำถามคือ จะทำอย่างไรดี เขาบอกว่า ลำดับแรก คือ อย่าเครียดกับการเป็นหนี้ และขอให้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำอย่างไร

“บุคคลที่เป็นหนี้ต้องหยุดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หยุดความอยากได้ไม่สร้างหนี้เพิ่มเติม ใช้ของเดิมที่มีอยู่ ใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ถ้าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็ให้ลดวงเงิน หรือยกเลิกสินเชื่อที่มีอยู่ คงเหลือไว้เพียงสินเชื่อที่จำเป็นและให้สิทธิประโยชน์แก่ตนเอง”

และต่อมาก็ต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาเพื่อรักษาประวัติด้านการเงิน หารายได้เพิ่ม อย่าไปกังวลเรื่องหนี้ เพราะหนี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่ต้องมีการวางแผน เช่น การหาเงินมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ การรีไฟแนนซ์ พูดคุยกับเจ้าหนี้ขอประนอมหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีแนวทางที่ต่างกันไป เท่านี้เราก็จะพ้นสภาพความเป็นหนี้ และจะได้กลับมาเป็นลูกค้าที่ดีและมีความสุข

ทั้งหมดเป็นข้อคิดที่คุณพรเลิศฝากไว้ค่ะ

ส่วนคุณชุติเดช ผู้บริหารของบัตรเคทีซี พูดถึง “เครื่องมือในการแก้หนี้นอกระบบ” ซึ่งจริงๆ เคยเขียนไว้ใน Money Care มาบ้างแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่ากับคนที่อยู่ในแวดวงอย่างคุณชุติเดชเล่าให้ฟังค่ะ

คุณชุติเดช บอกว่า ปัญหาของหนี้นอกระบบ ก็คือ ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และมีความจำเป็นต้องใช้เงิน สุดท้ายก็ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีภาระดอกเบี้ยสูงและหลายครั้งอาจจะถูกทวงถามอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ที่ผ่านมา รัฐมีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการดึงลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้อง โดยได้ออกสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” (Nano Finance) เพื่อให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ที่ไม่มีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน และไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน หรือไม่เคยมีข้อมูลสามารถแสดงประวัติในการชำระหนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูก เพื่อนำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ

โดยนาโนไฟแนนซ์มีวงเงินสินเชื่อสูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันสูงสุดไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate)

พร้อมทั้งออกสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ “พิโกไฟแนนซ์” (Pico Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้กับบุคคลธรรมดากู้ยืมไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ชำระค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล   ใช้คืนเงินกู้นอกระบบ หรือนำไปลงทุนในกิจการเล็กๆ โดยผู้ขอสินเชื่อจะมีทรัพย์สินหรือไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันก็ได้ แต่ต้องมีทะเบียนบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยปัจจุบัน หรือทำงานในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของผู้ให้กู้ตั้งอยู่

โดยล่าสุดตามประกาศกระทรวงการคลัง ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยให้กู้ยืมเงินได้โดยมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 36 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) สำหรับการปล่อยกู้วงเงิน 50,000 บาทแรก และวงเงินส่วนที่เกิน 50,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 28 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate)

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ สามารถรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกัน ได้อีกด้วย

ในส่วนของเคทีซีเองนั้น คุณชุติเดชบอกว่า เตรียมพร้อมที่จะขยาย 3 ธุรกิจใหม่ ทั้งนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยคาดหมายว่าภายในไตรมาส 3 นี้ จะสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งก็เชื่อว่า จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลงได้

เขียนมาทั้งหมดเพื่ออยากจะย้ำว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าเข้าวงการหนี้นอกระบบ หรือถ้าเข้ามาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะถึงทางตัน เพราะมันยังแก้ไขได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่ที่ตัวเองค่ะว่า เราจะเลือกเป็นลูกหนี้แบบไหน ที่ตัวเองไม่ต้องเหนื่อย (มาก) และคนที่ช่วยคุณก็ไม่ต้องเหนื่อย (มาก) ตามไปด้วย

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News