เวลาเจอคำถามง่ายๆ สั้นๆ ดิฉันมักจะคิดมากเสมอ เพราะคำถามง่ายๆ สั้นๆ นี่แหละค่ะที่ตอบยากดีนัก ล่าสุดมีผู้ฟังรายการ “เงินทองต้องรู้” ส่งคำถามมาทางไลน์ @PKTALK ถามว่า “จะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมอย่างไรดีครับ” ที่บอกว่าหนักใจ เพราะการตอบคำถามที่เป็นพื้นฐานในช่วงเวลาของรายการวิทยุที่มีจำกัดแค่วันละ 1 ชั่วโมงนั่นเป็นเรื่องยากประการแรก ส่วนประการที่ 2 ก็คือ รายการวิทยุที่ดิฉันรับหน้าที่ดำเนินรายการมาต่อเนื่องเป็นเวลา 16 ปีเต็มนั้น ก้าวผ่าน “เรื่องพื้นฐาน” ของการลงทุนไปไกลแล้วค่ะ
ผู้ฟังส่วนมากก็ล้วนมีความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนแบบผ่านศึกกันมาแล้วทั้งนั้น การตอบคำถาม “พื้นฐาน” ด้านการลงทุนจึงอาจจะไม่เหมาะ ทั้งๆ ที่ส่วนตัวรู้สึกดีใจและยินดีที่มีคนฟังกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน คิดไปคิดมาก็ขอให้พื้นที่ของ Money Care นี่แหละ ที่จะตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ พร้อมกับขออนุญาตแชร์ประสบการณ์เรื่องการลงทุนใน “กองทุน” ของตัวเอง เผื่อใครอยากนำไปใช้ในการตัดสินใจ
“กองทุนกองแรก” ในชีวิต ไม่ได้ซื้อหรือลงทุนด้วยเงินของตัวเองค่ะ แต่เป็น “ของขวัญ” ที่พ่อซื้อให้ตอนเรียนจบรับปริญญา ตอนนั้นยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า “กองทุนรวม” คืออะไร รู้แต่ว่า พ่อส่งเอกสารให้ 1 แผ่น ใหญ่ขนาดหน้ากระดาษ A4 นี่แหละ ตอนหลังถึงรู้ว่า มันเป็นเอกสารถือครองกองทุนที่บริษัทที่ออกกองทุน (คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหรือบลจ.) ออกให้ ในนั้นจะระบุชื่อผู้ถือ และมีจำนวนหน่วยที่ซื้อกับมูลค่าหน่วย
กองทุนรวมกองแรกของดิฉัน เป็นกองทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์ (ขออภัยที่จำชื่อกองไม่ได้จริงๆ) มูลค่า 5,000 บาท
เมื่อรู้ว่า ตัวเองมีกองทุนในครอบครองอยู่ 5,000 บาท ก็ต้องเริ่มศึกษาว่า กองทุนคืออะไร เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เป็นช่วงแรกๆ ที่มีการออกกองทุนแบบนี้สำหรับเป็นทางเลือกในการลงทุนของผู้มีเงินออม จนรู้ว่า กองทุนก็เหมือนกับการเอาเงินไปลงขันใบใหญ่ คนที่ลงขันจะรู้จักกันหรือไม่รู้จักกันไม่ใช่ประเด็นค่ะ เพราะสิ่งที่เราจะเลือกว่าจะเอาเงินของเราไปลงในขันใบไหนนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า ผู้จัดการกองทุน (ซึ่งก็คือ บลจ.) จะนำเงินในขันไปลงทุนที่ไหน จุดหมายปลายทางคืออะไร
จุดหมายปลายทางที่ว่านี้ เรียกว่า “นโยบายลงทุน” ค่ะ เขาจะบอกเราไว้ตั้งแต่แรกเลยว่า ขัน A จะนำไปลงทุนในตราสารหนี้ (ชื่อก็บอกว่า ตราสารหนี้ ดังนั้น เราเป็นผู้ลงทุน เราจะอยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้ ความเสี่ยงก็จะต่ำกว่าการเป็นเจ้าของ ก็ลองนึกว่าเวลาบริษัทที่ออกตราสารมาขายเราประสบปัญหา เจ้าหนี้ก็จะได้รับการคุ้มครองก่อนเจ้าของ) โดยเขาจะคาดการณ์ผลตอบแทนให้ด้วยว่า อยู่ที่กี่เปอร์เซนต์ต่อปี โดยเฉลี่ยก็อยู่ในราว 1-3% ต่อปีไม่เกินนี้ค่ะ
ส่วนขัน B จะนำไปลงทุนในตราสารทุน (แปลว่า ผู้ลงทุนอยู่ในฐานะ “เจ้าของ” ค่ะ เช่น เราซื้อหุ้นบริษัท ก. เราก็มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการนั้น ซื้อหุ้นโรงพยาบาล ซื้อหุ้นแบงก์ ก็เหมือนกันค่ะ) ทีนี้ เมื่ออยู่ในฐานะเจ้าของ ความเสี่ยงจากการลงทุนมีมากกว่าคนลงทุนในฐานะเจ้าหนี้ ผลตอบแทนก็ต้องสูงกว่า โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 8-10% ต่อปี
บางคนอ่านถึงตรงนี้อาจจะร้อง โอ้โห ! ทำไมผลตอบแทนมันต่างกันลิบ ระหว่างขัน A หรือกองทุน A ที่ลงทุนในตราสารหนี้ กับขัน B หรือกองทุน B ที่ลงทุนในตราสารทุน ที่ต่างกันเยอะก็เพราะเรามองฝั่ง “ได้” อย่างเดียว ยังไม่ได้คำนึงถึงฝั่ง “เสีย”
เพราะบางช่วงเวลา กองทุนรวม B ที่ลงทุนในหุ้น อาจจะให้ผลตอบแทนสูงถึง 20% หรือมากกว่านั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็พาผู้ลงทุนขาดทุน 20% หรือมากกว่านั้นได้เช่นกัน ถามว่า ลงทุนในกองทุน B ด้วยเงิน 10 บาท มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาทได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มี และถามว่า มีโอกาสที่เงินลงทุนจะลดลงจาก 10 บาท เหลือ 5 บาท หรือ 2 บาทได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีเหมือนกัน ส่วนกองทุน A แม้ว่าผลตอบแทนจะน้อย แต่ความเสี่ยงก็น้อยกว่า
แต่ทางเลือกการลงทุนไม่ได้มีแต่ขัน A หรือขัน B เท่านั้นค่ะ ยังมีขัน C ให้เลือกในลักษณะของ “กองทุนผสม” คือ เอาทั้ง A และ B นี่แหละมาผสมกัน ขึ้นอยู่กับว่า ในขัน C จะให้น้ำหนักใครมากหรือน้อยกว่ากัน เช่น ขัน C ใบที่ 1 มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ (A) 30% และลงทุนในตราสารทุน (B) 70% แบบนี้ก็เท่ากับช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นไปได้ โดยที่ผลตอบแทนก็ไม่น่าจะน้อยเหมือนลงใน A เพียวๆ หรือถ้าผู้ลงทุนรู้สึกว่า ยังเสี่ยงไป ก็อาจจะเลือกขัน C ใบที่ 2 ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ (A) 50% และลงทุนในตราสารทุน (B) อีก 50% แบบครึ่งๆ ไปเลย
ทั้งหมดนี้ เพื่อตอบคำถามว่า เราจะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมยังไง ก็เริ่มจากถามตัวเองว่า เป้าหมายการลงทุนของเราคืออะไร เราต้องการผลตอบแทนระดับไหน เรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ซึ่งมันต้องไม่ย้อนแย้งกัน อยากได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี ก็ต้องรับความเสี่ยงที่สูงได้ ยอมรับว่าเงินต้นมีโอกาสหายได้ มีโอกาสขาดทุนได้ ไม่ใช่อยากได้ผลตอบแทน 10% แต่รับความเสี่ยงไม่ได้เลย เงินต้นหายไม่ได้ ขาดทุนไม่ได้ (และถ้ามีคนบอกว่าคุณว่าได้สิ มากกว่านี้ก็ยังได้ ก็ขอให้สะกิดใจไว้นิดนึงว่าคุณกำลังตกเป็นเหยื่อ ยิ่งต้องคิดทบทวนให้ดี)
ถ้าได้เป้าหมายที่ไม่ย้อนแย้งกันแล้ว ก็ตัดสินใจเลือกเอาเงินของเราใส่ในขันที่ผู้จัดการกองทุนจะรวบรวมแล้วนำไปลงทุนยังจุดหมายปลายทางที่เขาประกาศไว้แต่แรก ส่วนที่ยังไม่รู้ว่า จะตัดสินใจอย่างไรดี จริงๆ มีหลักคิดเรื่องการลงทุนตามช่วงอายุเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ซึ่งคราวหน้าจะกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ
สุดท้ายขอย้อนกลับไปที่ “กองทุนกองแรก” ของตัวเอง ซึ่งเป็นของขวัญวันรับปริญญา จากมูลค่ากองทุน 5,000 บาท ถ้าทิ้งไว้ถึงวันนี้น่าจะเพิ่มค่ามหาศาล เสียก็แต่พอคิดว่าไม่ใช่เงินของตัวเอง ก็เลยคิดว่าต้นทุนเป็นศูนย์ เพราะเราไม่ได้จ่ายเงินซื้อ สุดท้ายตัดสินใจขายขาดทุน
แต่ถึงแม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีนัก ก็ไมใช่ว่าเราจะต้องผิดพลาดซ้ำๆ ไปตลอดค่ะ