ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้าแทรกแซงการกู้ยืมเงินช่วงข้ามคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repurchase) เมื่อวันอังคาร หลังจากอัตราดอกเบี้ยพุ่งทะยานขึ้นแตะระดับ 10% ในวันเดียวจากระดับปกติที่มีการกู้ยืมกันที่อัตราดอกเบี้ย 2% ส่งผลให้ตลาดการเงินสหรัฐเกิดอาการช็อกฉับพลัน
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตรช่วงข้ามคืนที่พุ่งขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 จากที่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 3 กันยายนจนถึงวันที่ 16 กันยายนระหว่าง 2.0-2.5% ก่อนที่จะพุ่งขึ้นเป็นจรวดในวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากขาดสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินสหรัฐอย่างฉับพลัน
โดยมีรายงานว่า เฟดได้เข้าแทรกแซงตลาดเงินสหรัฐด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 53,000 ล้านดอลลาร์ผ่านระบบธนาคาร และตลาดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องโดยตรง ทั้งนี้ เฟดสาขานิวยอร์กเปิดเผยว่า การเข้าแทรกแซงของเฟดในตลาดเงินนั้น เพื่อให้กลไกทางการเงินกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ
[restrict]ในขณะที่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกยังคงดำเนินอยู่ ท่ามกลางที่ราคาน้ำมันร่วงลง 6% ในวันเดียว จากระดับที่เคยพุ่งขึ้น ยืนเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ รวมถึงการที่บริษัทซาอุดี อารามโก ได้ออกมายืนยันว่า การผลิตน้ำมันจะกลับมาสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเหวี่ยงตัวลง
โดยที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงในวันอังคาร 6.55% หรือ 4.52ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแตะระดับ 64.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับวันอาทิตย์ที่ราคาพุ่งขึ้น 19.5% สู่ระดับ 71.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมัน WTI (West Texas Intermediate) ซื้อขายที่ 59.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ร่วงลง 5.7% หรือ 3.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่ขึ้นไป 15% แตะระดับ 63.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากโจมตีบ่อน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย ด้วยเครื่องบินโดรนของกลุ่มกบฏฮูติในเยเมนใต้ที่ออกมาอ้างเป็นผู้ปฏิบัติการโจมตีเมื่อวันเสาร์
เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า กำลังผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียจะกลับคืนสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากสามารถฟื้นฟูกำลังผลิตที่ได้รับความเสียหายในช่วง 2 วันที่ผ่านมาถูกจำกัดวงแล้ว โดยสามารถฟื้นฟูกำลังผลิตได้แล้ว 50% และกำลังผลิตจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงสิ้นเดือนกันยายน
หลังจากที่บ่อน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีและส่งผลกระบต่อผลผลิตน้ำมัน 5.7 ล้านบาร์เรล หรือราว 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ต้องขาดหายไปจากการส่งออกของซาอุดีอาระเบียขณะที่มีรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียมีความสามารถในการสำรองการผลิตน้ำมันมากที่สุดในกลุ่มโอเปคสูงถึง 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทั่วโลกยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะการจับจ้องที่การประชุมของเฟด 2 วันในวันที่ 17-18 กันยายน จะประกาศลดดอกเบี้ยลงในสัดส่วน 0.25-0.5% หรือไม่ นอกจากนี้เฟดจะเริ่มดำเนินการนำเอามาตรการ QE กลับมาใช้ในเดือนตุลาคมหรือไม่
ทั้งนี้ จากผลเซอร์เวส์ของ Bank of America Merrill Lynch ในรายงาน Fund Manager Survey ที่มีการเปิดเผยเมื่อวันอังคารชี้ว่า ความคิดเห็น 38% จากการเซอร์เวส์ 235 รายที่เป็นผู้บริหารกองทุนมูลค่า 683,000 ล้านดอลลาร์ คาดโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
โดยความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆ กันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2008 รวมทั้งหากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้ว ที่ปล่อยให้ดอกเบี้ยเงินฝากติดลบมากขึ้นอีก 0.1% จาก -0.4% เป็น -0/5%
และอัดฉีดเม็ดเงิน QE วงเงิน 20,000 ล้านยูโรต่อเดือนอย่างไม่จำกัดระยะเวลา จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปกลับมาฟื้นตัวออกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า หากเยอรมนีกันมาใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังก็มีโอกาสที่การลงทุนในตลาดหุ้นที่เป็นความเสี่ยงขณะนี้ จะพลิกเป็นตลาดที่มีความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในอีก 6 เดือนข้างหน้าเช่นกัน[/restrict]