เงินเยน-ฟรังก์สวิส-ทองคำ เป็น 3 สินทรัพย์ปลอดภัย ที่นักลงทุนทั่วโลกเข้าซื้อในขณะนี้ ท่ามกลางความผันผวนรุนแรงของตลาดการเงินโลก เนื่องจากความตึงเครียดของสงครามการค้า สงครามค่าเงินและแรงกดดันที่บีบให้ธนาคารกลางสหรัฐมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างก้าวกระโดดในเดือนกันยายนนี้
ขณะที่การลงทุนในหุ้นถูกจัดว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นทิ้งอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นโลกอีกวันหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดหุ้นวอลล์มสตรีทถูกเทขายอย่างถล่มทลายจนดัชนีหุ้นหลักทั้ง 3 คลาดดื่งลงลึกมากกว่า 4-5%
ก่อนที่จะพยายามทรงตัวในระหว่างชั่วโมงซื้อขาย แต่ยังคงเคลื่อนไหวปิดตลาดดิ่งลงกว่า 2-3% ในวันนั้น โดยดัชนีดาวโจนส์ที่ดิ่งลงมากกว่า 900 จุดในช่วงต้นการซื้อขาย ก่อนปิดตลาดดิ่งลง 767.27 จุด หรือ 2.9% ปิดที่ 25,717 ขณะที่ S&P 500 ดิ่งลง 3% ที่ 2,844 และ Nasdaq ดิ่งลง 3.5% ที่ 7,726 รวมทั้งตลาดหุ้นเอเชีย และยุโรป ที่ร่วงลงมากกว่า 2% ในวันจันทร์วันเดียว
จากรายงานของ Bloomberg ชี้ว่า 500 มหาเศรษฐีโลก ได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ดิ่งลงในวันจันทร์เพียงวันเดียว สูญเสียความมั่งคั่งมากกว่า 2.1% โดยเฉพาะมหาเศรษฐีสหรัฐอย่าง Jeff Bezos เจ้าพ่อ Amazon มีความมั่งคั่งวูบหายไปถึง 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือ Mark Zuckerberg ของ Facebook มีความมั่งคั่งลดลง 2,800 ล้านดอลลาร์ รวมถึง Bill Gates เจ้าพ่อ Microsoft สูญความมั่งคั่งไป 2,000 ล้านดอลลาร์
แต่มหาเศรษฐี 500 อันดับแรกของโลกยังคงครอบครองความมั่งคั่งรวมกันจำนวน 5 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019
หลังจากที่หุ้นกลายเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจในการเข้าถือครองทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นถึง 17% นับจากต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยราคาทองล่าสุดพุ่งทะลุ 1,514 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และถ้าถือในระยะ 1 ปีราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้น 25%
ในขณะที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั้งเงินเยนและฟรังก์สวิส เป็นสกุลเงินปลอดภัยเช่นเดียวกับทองคำ มีการแข็งค่าขึ้นท่ามกลางสงครามค่าเงิน (Currency War) ที่ปะทุขึ้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และกระทรวงการคลังสหรัฐออกมากล่าวหาจีนปั่นค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงจนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางด้านการค้า
โดยที่เงินหยวนมีค่าอ่อนยวบทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร๋เมื่อวันจันทร์ และยังถูกมองว่ามีการใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐ หลังจากที่สหรรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนครั้งหลังสุดอีก 10% เป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะมีผลในวันที่ 1 กันยายนนี้
ทั้งนี้ เงินเยนเคลื่อนไหวล่าสุดที่ 106 ต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 1.44% น้บตั้งแต่ต้นปีนี้ และแข็งค่าเพิ่มขึ้น 1.24% ในช่วง 1 ปี ส่วนงินฟรังก์สวิสเป็นอีกสกุลหนึ่งที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยหรือ Save-Haven Currency แตะระดับ 0.97 ต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.8% น้บตั้งแต่ต้นปีนี้ และแข็งค่าเพิ่มขึ้น 2.15% ในช่วง 1 ปี
อย่างไรก็ตาม Bloomberg กลับให้สถานะของเงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในจักรวาล ที่แข็งค่ามากที่สุดในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโลก โดยแข็งค่ามากกว่า 5% จากต้นปีนี้ โดยล่าสุดมีการอ่อนตัวลงเล็กน้อยที่ระดับ 30.73 ต่อดอลลาร์
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.5% เพื่อรับมือความผันผวนของตลาดการเงินโลก รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากปัญหาของสงครามการค้า และการเริ่มปะทุของสงครามค่าเงิน แต่เงินบาทในวันนี้ยังคงแข็งค่าขึ้น 4.95% นับจากต้นปีนี้ และแข็งค่าถึง 7.83% ในช่วง 1 ปีมานี้
ท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเนื่องจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ขณะที่สหรัฐต้องการกดดันให้เกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกับคาดหวังการนัดหมายที่จะมีการเจรจาอีกครั้งในเดือนกันยายนที่กรุงวอชิงตันจะเดินหน้าในทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ในวันนี้ก็มีรายงานถึงการที่ทำเนียบขาวชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้กับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐที่จะเริ่มทำธุรกิจกับหัวเว่ย หลังจากที่จีนได้ระงับการซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐ
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางจีนจะเข้าพยุงค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพที่ระดับ 6.9683 และ 6.9996 หยวนต่อดอลลาร์ เมื่อวันอังคารและวันพุธตามลำดับก็ตาม แต่ในวันนี้ก็ได้กำหนดค่ากลางของเงินหยวนอยู่ที่ระดับ 7.0136 ต่อดอลลาร์
ขณะที่ทั้ง Bank Of America คาดว่าทิศทางเงินหยวนจะอ่อนค่าแตะ 7.30 ต่อดอลลาร์ หลังสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 10% มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ และอาจจะย่ำแย่กว่านี้ลดลงที่ 7.50 ต่อดอลลาร์ หากมีการปรับขึ้นภาษีเป็นอัตรา 25% ส่วน Citigroup คาดว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงที่ 7.50 ต่อดอลลาร์ในสิ้นปีนี้
โดยที่การอ่อนค่าของเงินหยวนาในรอบ 11 ปียังคงเป็นตัวแปรต่อความเสี่ยงของตลาดหุ้นโลก และตัวจากการผันผวนรุนแรงของอัตราผลตอบแทนบอนด์รัฐบาลสหรัฐอายุ10 ปีที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1.595% ในวันพุธ และได้ขัยบขึ้นแตะที่ 1.72% ในวันศุกร์ ได้เป็นตัวแปรที่ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนต่อตลาดการเงินสหรัฐและทั่วโลก เนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในเดือนกันยายนและธันวาคม