ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไม่ได้มีแค่ Capital Gain หรือกำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นเท่านั้น แต่ยังมี Dividend หรือเงินปันผล เป็นเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของกิจการตัวจริงเสียงจริง ที่ไม่ใช่ “นักเล่นหุ้น” จะมองที่เงินปันผลมากกว่าราคาหุ้นที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ซะด้วยซ้ำไป
สิ่งที่นักลงทุนต้องไม่ลืมอีกอย่างหนึ่งก็คือ กำไรหรือขาดทุนจากส่วนต่างของราคาหุ้นนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเราขายหุ้นนั้นออกไป ดังนั้น ตราบใดที่เรายังไม่ขาย ตัวเลขกำไรหรือขาดทุนก็เป็นเพียง “ตัวเลขทางบัญชี” แต่เงินปันผลที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นนั่นสิ “ของจริง”
เพราะเมื่อคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบให้จ่ายเงินปันผล (ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง) และนำเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ เราก็จะได้รับเงินปันผลตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ โดยที่จำนวนหุ้นที่เราเป็นเจ้าของก็ยังคงเป็นสมบัติของเราอยู่
เราลองมาดูความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวใน 2 ด้านหลักนี้
หนึ่ง ซื้อหุ้นราคาแพงมีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นราคาถูก
ราคาหุ้นถูกหรือแพง มักจะดูได้จากอัตราส่วนพีอี (P/E: ราคาต่อกำไรต่อหุ้น) หากค่าพีอีสูงแสดงว่า ราคาสูงเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานหรือกำไรต่อหุ้นที่บริษัททำได้ แต่ถ้าพีอีต่ำ แสดงว่าราคายังไม่แพงเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงาน
แต่พอเราใช้หลักว่า “การซื้อหุ้นเป็นการซื้ออนาคต” ความเสี่ยงที่เรากล่าวถึงจึงไม่ได้ดูแค่ความเสี่ยงในปัจจุบัน แต่ต้องดูความเสี่ยงในอนาคตด้วย
และเนื่องจากว่า ‘ราคาหุ้น’ ในอนาคตไม่มีใครสามารถคาดการณ์หรือคาดเดาได้ (ใครคาดได้ต้องรวยมหาศาลแน่นอน) ดังนั้น การคาดการณ์จึงตกไปอยู่ที่ ‘กำไรต่อหุ้น’ หากคาดว่ากำไรต่อหุ้นจะลดลง อัตราส่วนพีอีย่อมสูงขึ้น แสดงว่าราคาหุ้นจะแพงขึ้น แต่หากคาดว่ากำไรต่อหุ้นจะสูงขึ้น อัตราส่วนพีอีจะลดลง แสดงว่าราคาหุ้นจะถูกลง
สอง ซื้อหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นที่ไม่จ่ายปันผล หรือจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง
นั่นเป็นเพราะเหตุผลดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น คือไม่ว่าราคาหุ้นจะถูกลงหรือแพงขึ้น แต่หากบริษัทมีมติจ่ายเงินปันผล เราก็ยังมีเงินไหลเข้ากระเป๋า โดยที่ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นออก
ถ้าอยากรู้ว่าเงินปันผลที่เราได้รับจากบริษัทนั้นมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ก็ต้องดูที่ Dividend Yield หรืออัตราเงินปันผลตอบแทน โดยคำนวณจากการนำราคาหุ้นเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยเงินปันผลต่อหุ้น
บริษัทที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทนสูงกว่าย่อมน่าสนใจมากกว่าบริษัทที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลต่ำ
และแน่นอนครับ “การซื้อหุ้นเป็นการซื้ออนาคต” ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องดูไปถึงอัตราการจ่ายเงินปันผลในอนาคตด้วย ว่าบริษัทที่จ่ายสูงๆ จะยังมีความสามารถจ่ายได้เช่นนั้นในงวดต่อๆ ไป หรือไม่ หากดูแล้วน่าจะจ่ายได้น้อยลง โดยที่เทียบกับราคาหุ้นเท่าเดิม อัตราเงินปันผลตอบแทนก็ย่อมลดลง
ราคาหุ้นที่ปรับลดลงทั้งกระดานด้วยเหตุของโควิด-19 ที่หลายคนกังวลว่าจะดิ่งแบบไม่มีแนวรับนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ลองพิจารณาด้วยหลักคิดข้างต้นดูนะครับ
ลองย้อนกลับไปดูการดิ่งพสุธาของหุ้นในตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกในนอดีตดูเถิด ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งก็ดี หรือวิกฤติเศรษฐกิจอื่นๆ ของโลกก็ดี เราจะเห็นเหตุหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ การล้มละลายของบริษัทจดทะเบียน
หากวิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำให้บริษัทหลายแห่งล้มละลาย เราย่อมได้เห็นการปรับตัวลงของดัชนีอย่างต่อเนื่อง แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ราคาหุ้นจะต้องดีดกลับ เพราะ…
แม้ว่าบริษัทจะทำกำไรได้น้อยลง หรือจ่ายปันผลได้น้อยลง แต่ถ้าไม่ถึงกับขาดทุนหรือล้มละลาย เมื่อราคาหุ้นลดลงจนถึงระดับหนึ่ง ค่าพีอีหรืออัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทนจะเข้าสู่โซนที่น่าสนใจมาก อันจะดึงดูดให้คนที่ยังพอมีเงินเหลือ ทุ่มซื้อหุ้น ณ ราคานั้น และหากมีคนที่คิดแบบนั้นพร้อมๆ กัน หลายๆ คน ราคาหุ้นย่อมดีดเด้งได้อย่างแน่นอน
ช่วงนี้หลายบริษัทกำลังประกาศจ่ายเงินปันผลและยังไม่ได้ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อรับเงินปันผล ยังมีเวลาให้ช้อปปิ้งหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงๆ ในปัจจุบัน และยังคงสามารถจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อยู่ครับ
โอกาสสำหรับคนที่มีเงินสดเหลือๆ มาถึงแล้วครับ
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : QE ยาแรงนอกตำราที่เป็นทั้งเทวาและซาตาน