เราได้ยินคำว่า Income Shock หนาหูขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา จริงๆ แบงก์ชาติเคยพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ตอนหลังมาถูกสำทับจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ก่อนที่แบงก์ชาติจะออกมาย้ำเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
คำว่า Income Shock ฟังดูเป็นศัพท์แสงทางวิชาการ ที่หมายถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้ แต่ถ้าจะพูดให้เข้าใจอย่างชาวบ้านๆ ก็ต้องบอกว่า เป็นภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” หรือรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบในทางลบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ เพียงแต่ Income Shock ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่คำว่า “รายจ่ายธรรมดาๆ” แต่หมายรวมไปถึงสิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วง ทีดีอาร์ไอเป็นห่วง แต่กระทรวงการคลังบอกว่าไม่ต้องห่วง นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน
[restrict]แบงก์ชาติห่วง เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ระบุว่า อยู่ที่ 13 ล้านล้านบาทนั้น สำหรับแบงก์ชาติเป็นระดับที่สูง เพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
ขณะที่กระทรวงการคลังไม่ห่วง เพราะกระทรวงการคลังมองว่า “หนี้ครัวเรือน” ที่สูง ถ้าไปดูไส้ในจะเห็นว่า มี “หนี้ดี” หรือ “หนี้ที่มีหลักประกัน” เช่น หนี้เงินกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์หรือหนี้ที่กู้ยืมมาทำธุรกิจ รวมอยู่ด้วย แต่ถึงไม่ห่วง ก็ไม่ได้แปลว่าจะละเลย กระทรวงการคลังบอกว่า ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด
ถ้าถามว่าทำไมแบงก์ชาติพูดอย่างหนึ่งกระทรวงการคลังพูดอย่างหนึ่งก็ต้องบอกว่ามันขึ้นอยู่ใครต้องทำหน้าที่อะไรแบงก์ชาตินั้นชัดเจนว่าต้องรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเป็นสำคัญและใครๆก็รู้ว่าปัญหา “หนี้” เป็นปัญหาบั่นทอนเสถียรภาพขณะที่คลังเน้นไปที่ดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจการก่อหนี้เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนประชาชนรายย่อยก็ต้องทำ “หน้าที่” ของตัวเองและต้องหาทางรับมือกับภาวะ Income Shock
ถ้าลองค้นหาข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในไลน์ แอพพลิเคชั่น จะเห็นคอมเม้นท์ เช่น “ใช้เงินให้พอทั้งเดือนก็บุญหัวแล้วคนไทยชั่วโมงนี้” หรือ “รายได้เท่าเดิม รายจ่ายเพิ่มขึ้น ข้าวของแพงจะเอาที่ไหนมาเก็บ” และ ฯลฯ ก็เห็นจริงตามนั้นค่ะ แต่ถามว่า มีทางป้องกันหรือแก้ไขได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “มี” เพียงแต่ใครเท่านั้นที่จะลงมือทำ
สำหรับคนที่ยังไม่เจอกับภาวะ Income Shock แปลว่า รายได้ยังดีอยู่ และรายจ่ายก็ยังน้อยกว่ารายได้ ดังนั้น เมื่อมีปัจจัยลบมากระทบ เราก็สะดุ้งน้อยหน่อย ยิ่งถ้าที่ผ่านมามีเงินออมรองรับไว้บ้าง แบบนี้ยิ่งสะดุ้งยาก แต่สำหรับคนที่รายได้และรายจ่ายแทบจะขี่กันทุกเดือน แบบนี้ก็ต้องระวังให้มากขึ้น และคำแนะนำสำหรับคนกลุ่มนี้ประการแรกเลย คือ ต้องจัดทำบัญชีรายรับ–รายจ่ายอย่างเข้มงวดเพื่อให้เรารู้สถานะของตัวเองว่า สุ่มเสี่ยงกับการที่ “รายจ่าย” จะแซงหน้า “รายได้” หรือยัง เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เมื่อเกิดปัจจัยลบมากระทบ ฐานะทางการเงินของเราก็จะมีปัญหาทันที
เมื่อจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างเข้มงวด จนรู้ฐานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเองแล้ว กลุ่มนี้มี 2 ทางเลือกที่จะประคองฐานะของตัวเองไม่ให้ “ตกชั้น” คือ หนึ่ง “เพิ่มรายได้” หรือไม่อย่างนั้น ก็ทำอย่างที่สอง คือ “ลดรายจ่าย” เพื่อเพิ่มส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่ายป้องกันภาวะ Income Shock
ส่วนกลุ่มที่น่าห่วงเป็นกลุ่มที่เกิดปัญหา Income Shock ขึ้นแล้ว กลุ่มนี้นอกจากจะมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ยังมีภาระหนี้สินที่ต้องหาเงินมาชำระ หรือเมื่อชำระแล้ว รายจ่ายก็ยังมากกว่ารายได้อยู่ดี สุดท้ายต้องกลับไปก่อหนี้อีก วนลูปอยู่แบบนี้ คนกลุ่มนี้ต้องทำทั้ง 2 ทางพร้อมๆ กัน นั่นคือ ต้องหาทางเพิ่มรายได้ด้วย และต้องลดรายจ่ายไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ยังต้องรีบเคลียร์หนี้ให้จบเร็วที่สุด
ทั้งเรื่องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ถ้าเรามองว่ายากก็ยาก แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ มันก็มีหนทาง ดิฉันรู้จักเด็กๆ หลายคนที่ทำงานประจำไปด้วย ทำขนม ทำงานฝีมือ หรือรับสอนพิเศษไปด้วย โดยใช้ช่องทางโซเชียลเป็นช่องทางโปรโมท หรือแม้กระทั่งตัวเองที่อายุอานามเข้าโค้งสุดท้ายของวัยเกษียณแล้ว ดิฉันยังต้องศึกษาช่องทางทำรายการผ่านยูทูป สร้างช่องทางผ่านไลน์ @ หรือแม้แต่กำลังศึกษาเรื่องจัดรายการออนไลน์ และกำลังคิดจะเขียนหนังสือออนไลน์ จากเดิมที่จัดรายการวิทยุผ่านคลื่นหลักและเขียนหนังสือแบบสิ่งพิมพ์เท่านั้น
เพราะถึงแม้ว่าจะยังไม่สุ่มเสี่ยงกับภาวะ Income Shock แต่เมื่อโลกมันเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยนตามโลกคิดให้มากทำงานให้เยอะรายได้ก็จะตามมาส่วนเรื่องลดค่าใช้จ่ายเคยมีคนโวยวายว่าถ้า “ลด” กันหมดเศรษฐกิจก็ไม่ขับเคลื่อนต้องนิยามใหม่ให้ตรงกันว่าเราลดเรื่องฟุ่มเฟือยเรื่องเกินกำลังจ่ายค่ะไม่ได้พูดเรื่องหยุดใช้จ่ายซึ่ง “กำลังใช้จ่าย” ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน
มีน้อยอย่าไปจ่ายมากที่มีมากก็อย่าไปจ่ายน้อยแค่นี้เราก็มีส่วนช่วยทั้งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจด้วยและสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไปพร้อมกันถูกใจทั้งแบงก์ชาติทั้งกระทรวงการคลัง[/restrict]