หลายคนคงสนใจว่าการประท้วงที่ฮ่องกงเขามีกระบวนการสื่อสารกันอย่างไร ทำไมการประท้วงที่ไม่มีผู้นำอย่างเต็มตัวจึงออกมากันอย่างคึกคัก เข้มแข็งและทรงพลังยิ่ง และอยู่ได้อย่างยาวนานต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ เรื่องนี้ บีบีซี.ภาคภาษาไทยนำเสนอเรื่องราวการใช้ “โชเชียลมีเดีย” ของกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกันระหว่างผู้ประท้วงไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
ในรายงานบีบีซี.เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานของคนทำงานธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในสมาชิกร่วมขบวนการประท้วงของชาวฮ่องกง กำลังนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป คอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันส่งข้อความ “เทเลแกรม” และในเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนสนทนาทางออนไลน์หลายแห่ง พร้อมกับช่วยบริหารกลุ่มสมาชิกในแอปพลิเคชันเทเลแกรมจำนวนหลายร้อยกลุ่ม ซึ่งผู้ใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ คือ ผู้ขับเคลื่อนการชุมนุมประท้วงนั่นเอง
[restrict]ในการส่งข้อความออนไลน์เรียกร้องให้ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงมีขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ส่งข้อความ แต่จะกระจายข่าวสารไปตามกระดานและกลุ่มสนทนา (กรุ๊ปแชต) ผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความที่เข้ารหัสไว้เพื่อความปลอดภัยกลุ่มออนไลน์เหล่านี้ บางกลุ่มมีสมาชิกที่ยังใช้งานอยู่มากถึง 7 หมื่นคน หรือราว 1% ของประชากรฮ่องกงเลยทีเดียว
กลุ่มในแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ช่วยอัพเดตข้อมูลข่าวสารการชุมนุมที่เกิดขึ้นล่าสุด รวมทั้งเผยแพร่รายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงในที่ชุมนุมให้ได้ทราบทั่วกัน บางกลุ่มก็ทำหน้าที่เป็นแนวร่วมช่วยกันสอดส่องรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม เฝ้าระวังตำรวจ และเตือนผู้ชุมนุมถึงความเคลื่อนไหวในบริเวณใกล้เคียง
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อยของผู้ใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม ที่สมาชิกล้วนเป็นนักกฎหมาย หรือบุคลากรของหน่วยกู้ภัย และหน่วยปฐมพยาบาลคอยให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และจัดหาสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงที่อยู่แนวหน้า วิธีการประสานงานออนไลน์นี้ช่วยให้ส่งต่อและแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารออกไปได้อย่างรวดเร็ว
ที่สำคัญในกลุ่มสนทนาหรือกรุ๊ปแชตนั้น ก็ช่วยให้ผู้ชุมนุมประท้วงสามารถออกเสียงลงมติในเรื่องต่าง ๆ เช่น วางแผนการขั้นต่อไปได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจพร้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นอกจากเทเลแกรมแล้ว แอปพลิเคชันและบริการทางออนไลน์อื่น ๆ ก็ช่วยบริหารจัดการกิจกรรมความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมประท้วงด้วย เช่น เมื่อพวกเขาอยู่ในสถานที่สาธารณะ โปสเตอร์ และใบปลิวประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้น จะถูกแจกจ่ายไปตามช่องทางออนไลน์ เช่น กระจายผ่านแอร์ดรอป ซึ่งเป็นบริการรับส่งไฟล์ระหว่างเครื่องไอโฟนและไอแพดที่อยู่ใกล้กันหรือเวลาจะมีการระดมทุนก็สามารถระดมผ่านทางเว็บไซต์ได้
เรื่องนี้นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่เทคโนโลยีสามารถทำให้การชุมนุมเป็น “การประท้วงที่ไร้ผู้นำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลังอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงชาวฮ่องกงหลายคนพยายามปกปิดร่องรอยของตนในโลกดิจิทัล บางคนจะใช้โทรศัพท์มือถือแบบเครื่องมือสองเก่าๆ และซื้อซิมการ์ดใหม่ทุกครั้งเมื่อร่วมกิจกรรมทางการเมืองผู้ประท้วง บางคนมีชื่อบัญชีที่ใช้สื่อสารทางออนไลน์หลายชื่อ โดยจะใช้สลับกันไปมาเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอยในโลกดิจิทัลซึ่งอาจจะชี้ไปถึงตัวตนที่แท้จริงได้ บางคนมีมือถือ 3-4 เครื่อง รวมทั้งไอแพด โน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คนเดียวอาจมีบัญชีสื่อสารทางออนไลน์ถึง 5-6 ชื่อ โดยไม่มีใครรู้ว่าทั้งหมดคือคนเดียวกัน และยังมีกรณีที่หลายคนร่วมกันใช้ชื่อบัญชีเดียวอีกด้วย
ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้โซเชียลบริหารจัดการม็อบพรรคพวกได้ส่งบทความบิสสิเนสไทม์ ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมามาให้อ่าน สาระในบทความบรรยายถึงฝ่ายตรงข้ามก็พยายามใช้ดิจิตอล เข้าทำลายล้างกลุ่มผู้ประท้วงทุกวิถีทาง โดยบอกว่า website LIHKG.com ในฮ่องกงเป็น ฟอรั่มที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้พูดคุย นัดหมาย และจัดการเรื่องการชุมนุมประท้วงกัน LIHKG ถูก DDoS (Distributed Denial of Service หนึ่งในเทคนิคของการโจมตีเพื่อปฎิเสธการให้บริการ หรือผู้ใช้บริการไม่สามารถเข้าใช้บริการได้) ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงไม่สามารถใช้งาน เว็บไซต์ ดังกล่าวได้หลายชั่วโมง ซึ่ง บิสสิเนสไทม์ ยังอ้างอิงอีกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เครื่องมือทางดิจิตอลของกลุ่มผู้ประท้วงถูกโจมตี แต่ครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นจากกลุ่มใด
บทความบอกอีกว่า การค้นหาข้อมูลของการโจมตีครั้งแรกในช่วงมิถุนายน 2562 DDoS มุ่งโจมตีไปที่บริการของ เทเลแกรมที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้สื่อสารกัน และ ซีอีโอ.ของเทเลแกรม เองก็ออกมายืนยันถึงเรื่องการโจมตีในครั้งนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก IP Address ในประเทศจีน โจมตีไปยังระบบของ เทเลแกรม ประมาณ 200-400 Gb/s
จากสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การโจมตีทาง ดิจิตอลเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วงชิงความได้เปรียบกันในสถานการณ์ต่างๆ และมีการพัฒนารูปแบบต่างไปจากเดิม หรือถ้ามองในระบบที่เล็กลง ปัญหาในระบบคล้ายๆกัน แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นในระดับองค์กรหนึ่งองค์กรใดในบ้านเราก็ได้
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่า สักวันหนึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ หรือระดับองค์กร มองบ้านเขาก็ต้องกลับมาย้อนดูบ้านเรา พร้อมรับมือกับสถานการณ์แบบนี้กันแค่ไหน[/restrict]