แผนการปรับลดกำลังผลิตอย่างเหนือความคาดหมายของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรลงวันละ 1.16 ล้านบาร์เรล เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค. ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสู่ขาขึ้น และนักวิเคราะห์คาดว่าประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ อย่างอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาจได้รับผลกระทบมากสุดหากราคาน้ำมันดิบทะยานไปแตะบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ดังที่มีบางฝ่ายคาดการณ์ไว้
นักวิเคราะห์แห่งเรย์มอนด์เจมส์ ชี้ว่าไม่ใช่สหรัฐที่จะเจ็บปวดที่สุดหากราคาน้ำมันไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ แต่จะเป็นประเทศที่ไม่มีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ อย่างญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี หรือฝรั่งเศส เป็นต้น
ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า
ผู้อำนวยการยูเรเซียกรุ๊ป มองว่าภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการลดกำลังผลิตและการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบ คือภูมิภาคที่พึ่งพาการนำเข้าในระดับสูง และมีสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงานพื้นฐานในระดับสูง
สภาพการณ์ดังกล่าวหมายความว่ากลุ่มเสี่ยง คือตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่อุตสาหกรรมต่างๆ พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมาก
ผู้ก่อตั้งบริษัทเอนเนอจี เอสเปก ระบุว่าประเทศที่มีเงินตราต่างประเทศน้อย และต้องนำเข้าน้ำมัน จะได้รับผลกระทบมากสุด เพราะราคาน้ำมันซื้อขายกันเป็นเงินดอลลาร์ และต้นทุนการนำเข้าจะสูงขึ้นหากเงินดอลลาร์แข็งค่า
อินเดีย
อินเดียเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูกตั้งแต่รัสเซียถูกคว่ำบาตรฐานบุกรุกยูเครน ข้อมูลของทางการระบุว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของอินเดียเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเดือนก.พ.เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์ชี้ว่าแม้อินเดียยังได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันในราคาถูกจากรัสเซีย แต่ก็กำลังรู้สึกถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น และหากราคาน้ำมันเดินหน้าขาขึ้นไปเรื่อยๆ แม้แต่น้ำมันดิบที่รัสเซียลดราคาให้ ก็จะเริ่มกระทบต่อการเติบโตของอินเดีย
ญี่ปุ่น
น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในญี่ปุ่นด้วยสัดส่วนประมาณ 40% ของการจัดหาพลังงานทั้งหมด สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่าการที่ญี่ปุ่นไม่มีการผลิตแหล่งใหญ่ๆ ในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง 80-90%
เกาหลีใต้
บริษัทเอเนอดาตาระบุว่า ในทำนองเดียวกัน น้ำมันมีสัดส่วนจำนวนมากในความต้องการพลังงานของเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้และอิตาลีพึ่งพาน้ำมันนำเข้ามากกว่า 75%
นอกจากนั้น ยุโรปกับจีนก็เสี่ยงเช่นกัน แต่จีนเสี่ยงน้อยกว่าเพราะมีการผลิตน้ำมันในประเทศ สำหรับยุโรปนั้นพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ
แม้มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจแตะระดับบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าราคาจะไม่อยู่ระดับนี้ตลอดไป และในระยะยาวแล้วราคาอาจอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปัจจุบัน