สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยตัวเลขอัตราการจ้างงานประจำเดือนกันยายน 2562 โดยระบุว่า แรงงานมีอัตราการ ‘ว่างงาน’ หมายถึงไม่มีงานทำหรือตกงาน ราว 4 แสนคน เห็นแบบนี้อาจจะน่าตกใจ แต่ถ้าดูเป็นเปอร์เซนต์ ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% ก็ต้องบอกว่า ตัวเลขอัตราการว่างงานของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และยังในขั้นที่ “ไม่น่าห่วง”
ที่น่าห่วงหลังจากนี้ ก็คือ ถ้าประเทศไทยยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าระดับ 3% ไปเรื่อยๆ แรงกดดันเรื่องการว่างงาน การตกงานก็จะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นสัญญาณการลดเวลาทำงาน หรือการลดการทำงานล่วงเวลาลงบ้างแล้ว อันนั้นถือเป็นการส่ออาการเบื้องต้น ที่ผ่านมา รัฐบาลถึงต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อประคองอัตราการขยายตัวไว้ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อรักษาอัตราการจ้างงานในระดับนี้เอาไว้ให้ได้
ในขณะที่ตัวเลขการว่างงานยังต่ำและยังไม่เป็นปัญหาสิ่งที่เป็นปัญหามานานแล้วและยังคงไม่มีท่าทีจะบรรเทาลงคือปัญหาของคนมีงานทำที่ ‘รายได้’ ตามไม่ทัน ‘รายจ่าย’ ส่งผลให้รายได้ไม่พอใช้และถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะยิ่งซ้ำเติมฐานะการเงินของตัวเองสุดท้ายต้องเข้าสู่วงโคจรของการเป็น ‘หนี้’
ในภาวะนี้การมี ‘รายได้’ จึงสำคัญที่สุดค่ะใครที่มีงานประจำทำอยู่แล้วต้องใช้ความอดทนให้มากขึ้นและรักษาฐานที่มั่นของตัวเองให้ดียิ่งถ้ามีหนทางหารายได้เพิ่มจากความสามารถที่เรามีก็ยิ่งต้องพยายามค่ะ
ขอยกตัวอย่างของน้องคนหนึ่งที่ดิฉันเพิ่งเจอมาเมื่อไม่นานมานี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ เรื่องของเรื่องคือ ดิฉันมีความจำเป็นต้องสั่งซื้อช่อดอกไม้แบบไทย ลองเสาะหาจากหลายๆ ร้าน ปรากฏว่า ร้านส่วนใหญ่จะเน้นจัดแบบฝรั่งมากกว่า ขณะที่ร้านจัดดอกไม้แบบไทยและเป็นแบบที่เราต้องการนั้นมีราคาแพงมาก จนไม่สามารถสั่งซื้อได้ ดิฉันลองค้นหาร้านจากอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ จนเจอร้านที่มีแบบที่เราต้องการในราคาที่ยอมรับได้
ปรากฏว่า เพิ่งมาทราบทีหลังว่า น้องคนจัดดอกไม้นั้นมีงานประจำเป็นสถาปนิก และจัดดอกไม้เป็นงานเสริมจากความสามารถของตัวเอง ลองสอบถามว่า แบ่งเวลาอย่างไร เขาก็บอกว่า ต้องเน้นงานประจำเป็นหลัก ถ้าว่างและสะดวกจริงๆ ถึงจะรับงานจัดดอกไม้ แบบที่งานประจำไม่เสีย และได้ทำงานที่ชอบอย่างมีความสุข ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไปจนกลายเป็นภาระหรือเพิ่มแรงกดดันให้ตัวเอง
แนวทางของน้องคนนี้ทำให้อดนึกถึงคำว่า ‘ขนมปังกับเนย’ หรือ Bread and Butter ไม่ได้ เป็น ‘ขนมปังและเนย’ ในความหมายที่ว่า ‘สิ่งที่เป็นแหล่งรายได้หลักที่ทำให้เรามีกินมีใช้’ ซึ่งหมายถึงรายได้จากงานประจำ ส่วนรายได้อื่นนั้น เป็นส่วนที่เราเรียกว่า ‘ตัวปรับผลตอบแทน’
จริงๆก็มีหลายคนทำแบบนี้นะคะตัวดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเพราะนอกจากงานประจำแล้วยังมีงานเสริมจากความถนัดของตัวเองไม่ว่าจะเป็นงานจัดรายการวิทยุ (ซึ่งก็เหมือนกับงานประจำไปแล้ว) งานคอมเมนเตเตอร์ในรายการทีวีงานเขียนคอลัมน์และงานบรรยายเป็นวิทยากรบ้างเป็นผู้ดำเนินรายการบ้างและซ้อนลงไปใน “งานประจำ” ที่ทำอยู่ก็ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคืองานที่เป็น “ขนมปังและเนย” คือลูกค้าประจำที่เราเซ็นสัญญาทำงานร่วมกันแบบปีต่อปีรับประกันว่าใน 1 ปีนั้นเรามีรายได้ที่แน่นอนกับงาน “แคมเปญ” ที่ในแต่ละปีอาจจะมีไม่กี่ครั้งแต่ว่าเป็นงานที่มีระยะเวลาแน่นอนเช่นทำ 1 เดือนหรือ 2-3 เดือนก็จบจบแล้วก็รับเงินก้อนซึ่งมีค่าจ้างต่อแคมเปญแพงกว่างานที่เป็น “ขนมปังและเนย”
ถามว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่รับเฉพาะงานแคมเปญเลยล่ะ เพราะค่าจ้างแพงกว่า และระยะเวลาก็ไม่ยืดเยื้อ ก็กลับไปที่เดิมค่ะว่า งานแคมเปญไม่ได้มีตลอด มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น งานประจำที่เป็น “ขนมปังและเนย” ยังเป็นอะไรที่มั่นคงกว่า และทิ้งไม่ได้เด็ดขาด
ในโลกของการบริหารจัดการเงินก็เหมือนกันค่ะ เราควรยึดฐานที่มั่น เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ในแหล่งที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัยสูง และมีสภาพคล่องสามารถดึงมาใช้ได้ทันที นั่นก็คือ เงินฝากธนาคาร เป็นส่วนที่เป็นฐานเหมือนการวางเสาเข็มให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน เหมือนกับการทำงานประจำ ก่อนที่จะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อใช้สำหรับแสวงหาผลตอบแทนหรือปรับผลตอบแทน เหมือนกับการทำงานเสริม
และเหมือนกันกับเรื่องของ “งาน” ที่ “ขนมปังและเนย” ในโลกของการลงทุนมักจะให้ผลตอบแทนต่ำทั้งงานประจำและเงินฝากแบงก์อาจจะไม่สามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายของการเกษียณอย่างที่ต้องการได้ดังนั้นงานเสริมและการลงทุนในรูปแบบอื่นๆจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นจริงๆค่ะ
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : บริหารสุขภาพทางการเงิน จัดการ “หนี้” ให้อยู่หมัด..มีเงินใช้จนสิ้นเดือน