Bank of America (BoA) เผยตัวเลขที่น่าตกใจ เกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางหลักของโลก อัดฉีดเม็ดเงิน QE (Quantitative Easing) เข้าสู่ตลาดการเงินทั่วโลกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เป็นจำนวนมากถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์
โดยที่เป็นการร่วมกันอัดฉีดเม็ดเงิน QE รอบใหม่นี้เกิดขึ้นจาก 3 ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
ท่ามกลางการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก ที่มีการลดดอกเบี้ยถึง 80 ครั้งในรอบ 12 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินเพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย เพื่อลดแรงกดดันจากแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และการส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2020
สถานกรณ์ตลาดการเงินโลกมืทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจาก 4 ธนาคารกลางที่มีอิทธิพลต่อตลาดการเงิน โดยนับรวมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ด้วยนั้น ได้ร่วมอัดฉีดเม็ดเงิน QE เป็นจำนวนมากถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน
แต่แทนที่สภาพคล่องที่ท่วมในระบบธนาคารและตลาดการเงินนั้นจะดีขึ้นตามการตอบรับของตลาด ตรงข้ามสถานการณ์ในตลาดการเงินกลับย่ำแย่ลง เพราะได้ผลักดันให้เกิดสินทรัพย์เสี่ยงทางการเงินที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้ภาพสถานการณ์ต่างๆ ที่ออกมานั้นหมดความน่าเขื่อถือ
โดยที่เม็ดเงิน QE จำนวนมหาศาลก็ยังคงส่งผลกระทบจนถึงปัจจุบัน ทั้งผลกระทบที่มีต่อสหรัฐกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งอัตราและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางถอยหลังกลับในปี 2019 โดยที่มีการเพิ่มสภาพคล่องจากธนาคารกลางมากขึ้น แต่ขณะเดียวทำให้เศรษฐกิจมีอัตราชะลอตัวลง
สำหรับไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว เม็ดเงิน QE ระลอกใหม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นบูมเกิดขึ้น ทั้งที่มีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่สภาพคล่องยังคงผลักดันให้ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐพุ่งขึ้นถึง 29% ในปีที่แล้ว
ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า ทุกๆ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของสภาพคล่องที่เฟดอัดฉีดเข้าตลาดนั้นส่งผลต่อการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น S&P 500 ในอัตรา 1% เช่นเดียวกัน โดยที่ S&P 500 จะพุ่งแตะระดับดัชนี 3,333 ช่วงวันที่ 3 มีนาคม โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3,265 รวมถึงอัตราผลตอบแทนของบอนด์รัฐบาลสหรัฐอายุ10 ปีจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.20% ช่วงวันที่ 2 กุมภาพันธ์โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.832%
โดยเฉพาะเฟดที่คาดว่าได้อัดฉีด QE ใหม่อีกราว 400,000 ล้านดอลลาร์นั้น ได้ส่งผลให้ฐานะงบดุลของเฟดพุ่งขึ้นแตะ 4.15 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยลดลงต่ำที่ระดับ 3.76 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 หลังจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี 2014
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันเฟดก็ยังไม่หยุดที่จะอัดฉีดเม็ดเงิน QE เข้าสู่ตลาดการเงินสหรัฐอีก โดยที่เจ้าหน้าที่เฟดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงได้ จากการที่เฟดได้เข้าแทรกแซงตลาดการเงินในปีที่ผ่านมา
โดยเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า เฟดมีเป้าหมายดูแลเศรษฐกิจมีการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing ในปีนี้ แม้จะมีความตึงเครียดครั้งใหม่เกิดปะทุขึ้นในตะวันออกกลางก็ตาม
รวมทั้งไม่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าท่ามกลางการขยายตัวเล็กน้อย โดยที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งจากการว่างงานในระดับต่ำสุดช่วง 50 ปี รวมทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคและภาคครัวเรือนใช้จ่ายเงินได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านแม้จะผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าอิหร่านกำลังประสบกับการชุมนุมประท้วงรุนแรง หลังจากที่ชาวอิหร่านออกมาแสดงความไม่พอใจต่อผู้นำที่จุดปะทุการเผชิญหน้า กับสหรัฐ รวมถึงปฏิบัติการที่ผิดพลาดในการยิงขีปนาวุธถูกเครื่องบินของยูเครนแอร์ไลน์ จนมีผู้เสียชีวิต 176 ราย