พลันที่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองค์ กรู๊ป จำกัด (มหาชน) หรือที่ชาวบ้านทั่วไปจะรู้จักกันในนาม “เอ็มเค.สุกี้” ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ว่าได้ส่งบริษัทย่อย “คาตาพัลท์” เข้าไปซื้อหุ้นแหลมเจริญซีฟู้ด 65% มูลค่า 2,060 ล้านบาทกลายเป็น “ทอล์ค ออฟเดอะทาวน์” ขึ้นมาทันที พร้อมกับมีคำถามตามมามากมาย ทำไมแหลมเจริญจึงขาย ทำไม เอ็มเค.กล้าซื้อเงินขนาดนี้เอาไปปั้นเองน่าจะเกิดได้ไม่ยาก แบรนด์ก็แข็ง ระบบการจัดการพร้อม
แต่เชื่อเถอะนักธุรกิจสมองเพชรอย่าง “ฤทธ์ ธีระโกเมน” ย่อมดีดลูกคิดรางแก้ว หักกลบลบกันคงเห็นแล้วว่าคุมยิ่งกว่าคุ้มจึงกล้าทุ่มเม็ดเงินมหาศาล
แต่สำหรับฝั่งแหลมเจริญนั้นไม่ต้องพูดถึงถือเป็นดีลที่ดีที่สุดเพราะมูลค่าบริษัทที่ตีออกมา ทั้งหมด 3,169 ล้านบาท ขายหุ้นไป 65% ยังมีหุ้นไว้นอนกอดอีก 35% มูลค่ากว่าพันล้านบาทเลยทีเดียว ด้วยศักยภาพของแหลมเจริญอาจจะเก่งสนามภูธรซึ่งฐานที่มั่นเดิมอยู่ระยอง เมื่อโดดเข้ามาเล่นสนามนครบาลอย่างกรุงเทพฯ ไม่หมูแน่ๆ แม้จะขยายสาขาได้ถึง 25 สาขา แบรนด์แหลมเจริญซีฟู้ดจะแข็งแกร่งหากอยากจะโตไปกว่านี้คงลำบากไม่ชำนาญทั้งเรื่อง ทำเล ที่หายากขึ้นและต้องใช้เงินลงทุนอีกมหาศาล
[restrict]ยิ่งธุรกิจร้านอาหารทะเล หัวใจหลัก คือ “อาหารสด” ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การจัดการต้องเนี๊ยบ ระบบโลจิสติกต้องดี สินค้าจึงจะได้คุณภาพ “เอ็มเค.” ตอบโจทก์ได้ตรงเป้ากว่าเพราะมีศักยภาพในเรื่องโลจิสติกและมีสาขามากกว่าเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามดีลนี้ แหลมเจริญมีแต่ได้กับได้ เพราะในอนาคตเชื่อว่า เอ็ม เค.จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่มาต่อยอดธุรกิจซีฟู้ดอย่างเต็มรูปแบบ เป้าหมายที่ผู้บริหารแหลมเจริญหวังไว้ลึกๆ หากอยู่ใต้ปีก “เอ็ม เค.” นั่นคือ การขยายสาขาไปต่างประเทศให้ชาวต่างชาติได้รู้จักแหลมเจริญมากขึ้นแค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมายแล้ว
แต่ที่คนอยากรู้มากกว่า ทำไม เอ็มเค. ถึงซื้อแหลมเจริญเอาเงิน 2060 ล้านมาปั้นแบรนด์ “เอ็มเค.ซีฟู้ด” ไม่ดีกว่าหรือแค่เทกระเป๋าสักพันล้านก็น่าจะเอาอยู่อย่างไรก็ตามสำหรับ เอ็มเค.เม็ดเงินที่ซื้อ 2060 ล้าน ไม่ได้ทำให้ขนหน้าแข้งร่วง อย่างดีก็แค่พริ้วนิดหน่อย การซื้อครั้งนี้น่าจะ ใช้เงินสดของตัวเองว่ากันว่า เอ็ม เค. น่าจะมีเงินสดอยู่ในมือเกือบๆ หมื่นล้านเงินที่ใช้ซื้อแค่ 1 ใน 5 ของเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าเท่านั้นเอง
บรรดานักวิเคราะห์ในแวดวงการเงินคาดการณ์กันว่า สัดส่วนรายได้ของ แหลมเจริญจะมีราว 10% ของรายได้รวมของเอ็มเค. ดังนั้นการเข้าถือหุ้น 65% ในแหลมเจริญน่าจะทำให้ เอ็มเค.โตขึ้นจากเดิมอีก 5% ถึงแม้ว่าการลงทุนในครั้งแรกจะมีมูลค่าสูงถึง 2,060 ล้านบาทก็ตาม แต่ก็มีศักยภาพเติบโตได้ในระยะยาว
ลองมาไล่เรียงธุรกิจของเอ็มเค. นอกเหนือจากร้านสุกี้เอ็มเค ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว ธุรกิจของเอ็มเคทั้งหมดประกอบไปด้วย ร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” ซึ่งได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่น แบรนด์อื่นๆ อีก 2 แบรนด์ ได้แก่ “ฮากาตะ” และ “เท็นจิน” ร้านอาหารไทย “ณ สยาม” และ “เลอ สยาม” ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ “เลอ เพอทิท”
ดังนั้นการที่ได้ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ ถือกระจายความเสี่ยงอันเป็นวัตรปฏิบัติที่ธุรกิจขนาดใหญ่ชอบทำ รวมถึงเป็นการขยายฐานลูกค้า และข้อมูลของลูกค้าที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำการตลาด ทำโปรโมชั่นร่วมกัน รวมทั้งการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นการซื้อความเชียวชาญเรื่องการจัดหาวัตถุดิบอาหารทะเลสดที่แหลมเจริญมีพร้อมกว่า
อีกทั้งแบรนด์แหลมเจริญเป็นที่ยอมรับอันดับต้นๆ ในธุรกิจอาหารทะเล ทำเลที่ตั้งถือว่าอยู่ในทำเลที่ดีมีทั้งในห้างฯ และร้านข้างนอกแบบแสตนอะโลนโดยเฉพาะในห้างฯหากเอ็มเค.ไปเปิด “เอ็มเค.ซีฟู้ด” ชนแหลมเจริญก็ไม่ได้หมายความว่าจะโค่นเจ้าเก่าลงได้ การซื้อหุ้นมาเป็นเจ้าของถือหุ้นใหญ่ก็เท่ากับเป็นการตัดคู่แข่งไปในตัว
วันดีคืนดี เอ็มเค.อาจจะมีแผนทำ “ดีลิเวรี่ ซีฟู้ด” หลังจากทีปล่อยให้รายย่อยๆ ขายอาหารทะเลสดส่งถึงบ้านทั้งปู ปลาหมึก ปลาทะเล ผ่านออนไลน์ร่ำรวยกันมานาน ขนาดรายเล็กๆ ฟันกำไรปีละหลายร้อยล้าน หาก เอ็มเค.ลงมาลุยสนามนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากมีความพร้อมทุกอย่าง สามารถเสิร์ฟอาหารทะเลสดใหม่ไปสู่ผู้บริโภคตามบ้าน หรือจะขยายสาขาไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
น่าติดตามว่าการเติบโตของ เอ็มเค.หลังจากเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในแหลมเจริญในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตลาดสุกี้บ้านเราตอนนี้ก็ไม่ได้เพริศแพร้วศิวิไลย์เหมือนแต่ก่อน อย่างที่รู้ๆว่าร้านอาหารประเภทชาบูเข้ามาแย่งตลาดคนรุ่นใหม่ไปไม่น้อย ร้านสุกี้จะให้โตเหมือนสมัยก่อนคงยาก[/restrict]