เท่าที่เฝ้าดูกีฬาซีเกมส์ สังเกตเห็นอะไรบางอย่างเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับทัพนักกีฬาไทยตั้งแต่มีการแข่งขันมาไทยถือว่าเป็นจ้าวซีเกมส์มาตลอด อย่างน้อยๆก็อันดับสอง จะนำโด่งตั้งแต่วันแรกๆ
แต่ครั้งนี้กลับผิดคาดวันแรกๆที่ออกสตาร์ทไทยก็ร่วงอยู่อันดับ 6 ดีกว่าพม่า และประเทศเล็กๆเท่านั้นอันดับนิ่งอยู่หลายวัน แม้วันสุดท้ายจะแซงพรวดมาอยู่อันดับ3ตามหลังเจ้าภาพและเวียดนาม แต่ก็ด้วยอาศัยบุญเก่าหรือความเก๋านั่นเอง
กีฬานั้นยึดโยงกับเศรษฐกิจกับการเมืองอย่างแยกไม่ออกบางครั้ง กีฬาจะเป็น”ดัชนีชี้วัด”ฐานะเศรษฐกิจประเทศนั้นๆได้เป็นอย่างดีจะเห็นว่าเที่ยวนี้นักกีฬาจากเพื่อนบ้านแม้จะโดนเราแซงในวันหลังๆแต่จะเห็นว่าเขาพัฒนาเข้ามาใกล้เคียงเราแต่การเมือง เศรษฐกิจกลับทิ้งให้เราอยู่ข้างหลังไกลขึ้นเรื่อยๆ
จะเห็นได้จากฟิลิปปินส์ ที่โกยเหรียญทองเป็นว่าเล่นแม้จะมีตุกติกประสาเจ้าภาพซึ่งครั้งหนึ่งได้ฉายาว่า”คนป่วยแห่งเอเชีย”ได้เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ในยุคของ”อควิโน เบนิโญ”ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาพัฒนาประเทศ ประกอบกับนโยบาย”แบล็กออฟฟิศของโลก” ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาโตต่อเนื่องระดับ5-6% โดยเฉลี่ย
ขณะที่เวียดนามมีนโนยาย”โดเหม่ย”เปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน ประกอบการการเมืองมั่นคง แรงงานมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้การปฏิรูปกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนด้วยการลดขั้นตอนการขออนุญาตจึงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนจำนวนมาก ตลอดระยะเวลา 10กว่าปีมานี้เศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่งขึ้นอย่างน่าจับตามอง จีดีพี.เติบโตสูงสุดในอาเซียน ระดับ 7%มาอย่างต่อเนื่อง
อินโดนีเซียเมื่อก่อนมีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและคอรัปชั่นคล้ายๆกับไทยหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 การเมืองอินโดฯได้พลิกโฉมอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เปลี่ยนไปและก้าวหน้ามากกว่าไทยนั่นคือ ทหารอินโดฯ ไม่กลับมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลย รวมถึงการปราบปรามทุกจริตคอรัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ ข้าราชการระดับบิ๊กๆถูกจับเข้าคุกแล้วหลายคน
การเมืองเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว คอรัปชั่นลดฮวบ นับตั้งแต่”โจโก วิโดโด้”ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซีย เติบโตระดับ 5% มาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อราวๆสี่สิบปีที่แล้ว “มาเลเซีย”ยังตามหลังไทยห่างๆแต่ เมื่อ”ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด”เป็นนายกยกรัฐมนตรียาวนานถึง22ปี ได้วางรากฐานประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เศรษฐกิจมาเลย์ที่เคยตามหลังก็ทิ้งห่างไทยแบบเห็นได้ชัด แต่เมื่อ ดร.มหาธีร์วางมือการเมืองมาเลย์เริ่มแกว่ง เศรษฐกิจก็ทรงๆแต่ปัญหาคอรัปชั่นกลับรุนแรงอีกครั้ง ดร.มหาธีร์จึงต้องกลับเข้ามายกเครื่องประเทศใหม่ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจมาเลย์ก็ยังเติบโต ระดับ 5%มาตลอด
ขณะที่สิงคฺโปร์ ทั้งเสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ทิ้งห่างประเทศต่างๆในอาเซียนแบบไม่เห็นฝุ่น เรียกว่าอยู่ในระดับระดับ”เวลิลด์คลาส”ไปแล้ว ดัชนีชี้วัดหลายๆตัวอยู่ระดับต้นๆของโลกไม่ว่า จะเป็นเรื่องการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดขีดความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ขึ้นอันดับ1ของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยโรงเรียนลอดช่อง
ดูเพื่อนบ้านแล้วย้อนกลับดูไทย การเมืองไทยยังพายเรือในอ่างอย่างนี้สลับกันระหว่างเลือกตั้งกับรัฐประหาร ยิ่งเศรษฐกิจในรอบหลายปีมานี้อัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% เท่านั้นการทุจริตคอรัปชั่นก็ยังรุนแรงและซับซ้อนขึ้นธุรกิจก็ผูกขาดไม่กี่ตระกูล
จึงไม่แปลกใจที่เรายังอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะ”กินบุญเก่า”ที่คนรุ่นก่อนๆสร้างไว้และได้อานิสงค์จากอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตหนีค่าแรงแพงมาหาค่าแรงถูกในไทยในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อสามสิบปีที่แล้ว
บางครั้งกีฬาเป็นดัชนีชี้วัดการเมือง เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆได้เป็นอย่างดีการเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจรุ่งเรืองการกีฬาก็รุ่งโรจน์ ยามใดที่การเมืองไม่มั่นคง เศรษฐกิจถดถอยการกีฬาก็ถอยหลัง แม้ซีเกมส์ครั้งล่าสุดของเราประคองตัวได้เพราะกินบุญเก่านั่นเอง