ในยุคที่เทคโนโลยีคือพระเจ้าจึงเกิดปรากฏการณ์ “digital disruption” ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบทำลายล้างให้กับโลกธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและกำลังรุกกินแดนธุรกิจเก่าๆ ให้ต้องล้มหายตายจากหรืออย่างน้อยๆ ก็เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือและ ยังขยายวงไปอย่างกว้างขวางขณะที่ผู้คนกำลังแตกตื่นเต้นกับ digital disruption แต่ขณะเดียวกันทุกคนกำลังจะโดนปรากฏการณ์ population disruption กวักมือเรียกท้าทายอย่างน่าวิตกกังวลไม่แพ้กัน
อย่างที่รู้ๆกันว่าอีกไม่เกิน 2 ปีประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มตัว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรซึ่งครั้งหนึ่งประเทศไทยมีนโยบายคุมกำเนิดอย่างได้ผลจนเป็นที่ชื่นชมแต่กลับมามีผลทำให้ อัตราเด็กเกิดใหม่ลดฮวบอย่างต่อเนื่อง จำนวนประชากรของประเทศทรงตัวอยู่ที่ไม่เกิน 70 ล้านคน จากสถิติปีล่าสุดในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 68.30 ล้านคน
[restrict]น่าห่วงตรงที่สัดส่วนของ “ประชากรสูงวัย” หรือคนแก่ในบ้านเราก็จะเพิ่มขึ้นๆ สวนทางกับ “วัยแรงงาน” ที่มีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่เหลือเพียงปีละ 6-7 แสนคน จากที่เคยมีเด็กเกิดใหม่สูงสุดที่ประมาณ 1.22 ล้านคน ในปี 2514
เรียกว่าลดลงประมาณ 50% เลยทีเดียวและยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่อง
คาดว่าภายในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากร และทำให้เกิดความผันผวนของสัดส่วนประชากร “ผู้สูงอายุ : วัยทำงาน” มาอยู่ที่ 1 ต่อ 4 ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ยิ่งน่าสนใจพบว่ามีผู้สูงวัยเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีรายได้หลักในการดำรงชีพจาก เงินออม/ดอกเบี้ย และ มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ทั้งหมด ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน สัดส่วน 34.30% (เส้นความยากจน ปี 2557 เท่ากับ 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน) นั่นหมายความว่า รัฐมีภาระที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 30% ของผู้สูงอายุทั้งหมด และจำนวนนี้ในแต่ละปีก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย
สังคมสูงวัยของเราเป็นอันดับ2 รองจากญี่ปุ่น กำลังการผลิตจากคนวัยทำงานซึ่งอายุประมาณ 25-29 ปี ต้องแบกรับภาระผู้สูงวัยและวัยก่อนทำงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 12% ในรอบ 12 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ต่อหัวของคนไทยยังน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วและมีโครงสร้างประชากรคล้ายกันเช่นเรามีรายได้ต่อหัวเพียง 1 ใน 8 ของฟินแลนด์และ 1 ใน 13 ของสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันเราอาศัยกำลังการผลิตจากแรงงานต่างชาติเท่านั้น
แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากแต่สิ่งที่วิตกกังวลจากโครงสร้างคือปรากฏการณ์ “ช่องว่างระว่างวัย” หรือ “generation gap” ความท้าทายของ population disruption ที่กำลังเกิดขึ้น จากปัญหา ช่องว่างระหว่างวัยนั้นสูงมาก เป็นปัญหาของคนที่เกิดมาในยุคของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการ “ปะทะ” ทางความคิดระหว่างเจเนอเรชั่นหรืออาจจะเรียกว่าแต่ละชนชั้นจะมีความคิดเห็นมุมมองที่แตกต่างกันสูงแบบสุดขั้ว
อย่างที่รู้ๆ กันว่าเด็กที่เกิดมาในยุคดิจิทัล ทุกอย่างอยู่บนมือถือ อยู่บนอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญเด็กกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก คือคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างในโลกนี้ ซึ่งเด็กที่เกิดมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน กูเกิล เฟซบุ๊ก หลายคนอาจมองว่าช่วยให้เด็กมีโลกกว้าง แต่ในความเป็นจริงบนโซเชียลมีเดียนำเสนอเฉพาะสิ่งที่คิดว่าเราอยากรู้ อยากได้ โดยไม่นำเสนอสิ่งอื่นๆ ดังนั้น โลกออนไลน์ แทนที่จะทำให้มนุษย์โลกกว้าง แต่กลับทำให้มนุษย์โลกแคบ อยู่ในโลกของตัวเอง แต่อาจรู้ลึกในสิ่งที่สนใจเท่านั้น
นอกจากนี้ population disruption กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ รวมถึงทิศทางการเมือง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์อนาคตใหม่” ที่ชนะการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาไปอย่างถล่มทลายเพราะจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก 7 ล้านคน หรือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกงที่ท้าทายอำนาจจากรัฐบาลจีนก็เป็น ก็เป็นปรากฏการณ์ของ “ช่องว่างระหว่างวัย” ซึ่งคนรุ่นใหม่อยากมีเสรีภาพอยากมีประชาธิปไตยและปรากฏการณ์อย่างนี้จะลามไปทั่วโลก
ปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้นั้นผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ หรือองค์กรต่างๆ แม้กระทั่งคนที่เป็นพ่อแม่ ต้องทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะหาวิธีรับมือกับ population disruption ได้อย่างเข้าใจปัญหาเพื่อหาวิธีแก้ตรงกับโจทก์ที่เกิดขึ้นให้ได้สังคมไทยในวันนี้ กำลังเจอแรงปะทะสองด้าน ด้านหนึ่งคือโลกแห่งอนาคตเป็น “โลกของคนรุ่นใหม่” แต่ขณะเดียวกัน ประเทศก็กำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” หรือ “โลกของคนแก่” ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ “โลกทั้งสองใบ” ของคนที่มีความแตกต่างกันสูงมาก อยู่กันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน คนรุ่นใหม่ก็ต้องเชื่อในประสบการณ์คนรุ่นเก่า และคนรุ่นเก่าก็ต้องยอมรับความเห็นต่าง สังคมจึงจะก้าวเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง[/restrict]