Parasite หนังที่ใช้ทุนสร้าง 11 ล้านเหรียญเรื่องนี้ เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 72 ประเทศฝรั่งเศส และก็คว้ารางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดประจำเทศกาล (รางวัลเดียวกับที่หนังไทยเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ เคยคว้ามาได้เช่นกันเมื่อปี 2010 ก่อนหน้าที่ Parasite จะได้ถึง 9 ปี)
ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ ไม่เพียงแค่เป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำ แต่สิ่งที่โจษจันบนเวทีนานาชาติในเทศกาลระดับโลกเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้อีกอย่างก็คือ เป็นหนังที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการตัดสินรางวัลปาล์มทองคำให้ได้คว้ารางวัลสูงสุดไปครองอย่างไร้ข้อโต้แย้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับจากเรื่อง Blue is the Warmest Colour ที่เคยสร้างปรากฎการณ์นี้ไว้ เมื่อปี 2013
จากนั้นมา เส้นทางของ “ปรสิต” กลุ่มนี้ ก็โรยด้วยกลีบกุหลาบทันที เมื่อหนังถูกนำเข้าฉายในเกาหลีใต้อีกสัปดาห์ถัดมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2019 ก็สามารถทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งบนตารางหนังทำเงินในเกาหลี เฉือนเอาชนะหนังฮอลีวู้ดที่เข้าฉายชนกันในเวลานั้นพอดีอย่าง Aladdin และ Godzilla: King of the Monster
จากนั้นก็ยืนโรงฉายยาวนานถึง 36 สัปดาห์ และทำเงินเฉพาะในเกาหลีใต้ไปทั้งสิ้น 72.3 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมออกตระเวณฉายในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย(ซึ่งหนังเข้าฉายสัปดาห์แรกก็กวาดไปทันที 5 ล้านบาท – เฉพาะในกรุงเทพ ปริมณฑล และเชียงใหม่ ส่วนรายได้รวมหลังจบโปรแกรม ปรสิตทำเงินในไทยไปประมาณ 20 ล้านบาท) และข้ามมาฉายในทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งในสหรัฐและแคนาดา เมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทำรายได้ไปอีก 35.5 ล้านเหรียญ
จนถึงตอนนี้ Parasite กวาดเงินจากทั่วโลกรวมแล้ว 167.6 ล้านเหรียญ และคงจะเดินหน้าทำเงินต่อไปได้อีกเรื่อยๆ หลังคว้าชัยบนเวทีออสก้าร์ถึง 4 รางวัลใหญ่ในสาขาหนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับ บทดั้งเดิม และหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
ย้อนกลับไปไกลราวปี 1997 คลื่นลูกแรกของ Korean Wave ก่อตัวเป็นระลอกเล็กๆผ่านกลุ่มนักร้องบอยแบนด์วง H.O.T ที่ไม่เพียงประสบความสำเร็จในบ้านเกิด หากแต่ข้ามไปสร้างชื่อในจีน ไต้หวัน
จนกระทั่งในอีกสองปีถัดมา รัฐบาลเกาหลีใต้ ก็มีนโยบาย มุ่งเน้นไปที่การส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลี มาถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็เข้ามาทำงานตอบรับนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในการนำวัฒนธรรมป๊อบร่วมสมัยของเกาหลีเป็นสินค้าส่งออก ภายใต้แนวคิด Korean Wave
โดยเริ่มด้วยการจุดกระแส เค ป๊อบ ให้การสนับสนุนศิลปินและเพลงเกาหลีออกสู่ตลาดโลก จนในต้นปี 2000 อุตสาหกรรมดนตรีและละครทีวีเกาหลี ก็เติบโต กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเกาหลีได้ในที่สุด
หลังจากนั้นเป็นต้นมา Korean Wave หรือคลื่นสินค้าวัฒนธรรมเกาหลี ก็ซัดสาดไปทั่วโลก ผ่านการสนับสนุนของภาครัฐ จนนำไปสู่ความสำเร็จระลอกแล้วระลอกเล่าผ่านอุตสาหกรรมดนตรี ในนาม K-POP , อุตสาหกรรมละครทีวีที่รู้จักกันดีอย่าง K-Dramas นำทัพโดยซีรี่ส์ดังระเบิดอย่าง Winter Sonata หรือเพลงรักในสายลมหนาว รวมทั้ง Jewel in the Palace หรือแดจังกึม ฯลฯ ก็ครองความสำเร็จมาอย่างยาวนาน
วงการเพลงเกาหลีแข็งแรงเติบโตมีศิลปินรุ่นใหม่ๆแจ้งเกิดในระดับโลกอีกหลายกลุ่ม หลายคน วงการทีวีก็ทำรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตามด้วยธุรกิจอื่นๆอย่างท่องเที่ยว K-Tourism, ความสวยความงาม K-Beauty, ธุรกิจอาหาร K-Cuisine
ในขณะที่วงการภาพยนตร์ แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีหนังในระดับปรากฎการณ์เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่คนทำหนังเกาหลียังได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งการสนับสนุนทุนสร้าง การส่งเสริมแลกเปลี่ยนให้ความรู้ผ่านการจัดเทศกาลหนัง ระบบโควตาที่ให้หนังในประเทศ มีโรงฉายและระยะเวลาการเข้าฉายไม่ต่ำกว่าที่รัฐกำหนด ฯ
ที่ผ่านมา หนังเกาหลีส่วนใหญ่มักไปได้ดีในตลาดหนังอาร์ตเฮ้าส์ ที่มีความโดดเด่นในคุณค่าทางศิลปะมากกว่าเชิงพาณิชย์ หลายๆเรื่องมักถูกฮอลลีวู้ดซื้อลิขสิทธิ์นำไปสร้างใหม่ เพราะเห็นในคุณค่าและศักยภาพในช่องทางการสร้างรายได้เพิ่ม อาทิ หนังเรื่อง Old Boy, Il Marie, My Sassy Girl ฯ หรือคนทำหนังเกาหลีเอง ก็มักได้รับข้อเสนอให้ไปทำหนังในฮอลีวู้ดอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ปักชานวุก(Stoker 2013), คิมจีวุน (The Last stand 2013)), ชิมฮยองแร(D-War 2008) หรือกระทั่งบองจุนโฮ (Snowpiercer 2013) ผู้กำกับ Parasite เองก็ตาม
การสั่งสมฝีมือการทำงาน การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรืออาจจะรวมถึงความร่วมมือร่วมใจสมานสามัคคีของคนทำหนังเกาหลี แม้กระทั่งคนดูหนังของเกาหลี ล้วนมีส่วนช่วยส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังค่อยๆเติบโตและแข็งแรงอย่างเป็นระบบ มั่นคง และพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาร่วมยี่สิบกว่าปีแล้ว

บนเวทีออสก้าร์ ครั้งที่ 92 ปีนี้ จึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่หนังเกาหลีเลื่อนชื่นชั้นขึ้นมาเทียบเคียงกับหนังฮอลลีวู้ดได้อย่างสบายๆไม่น้อยหน้า และเมื่อเปรียบกับคู่แข่งรางวัลใหญ่หนังยอดเยี่ยมทั้งแปดเรื่อง
จะเห็นว่า Parasite โดดเด่นมากในเรื่องประเด็นที่หนังต้องการนำเสนอ เทคนิคที่นำมารับใช้ การพูดเรื่องใหม่ๆในสังคมที่ไม่ใช่แค่การสะท้อนปัญหา หากแต่เล่าถึงภาวะความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นอันเป็นประเด็นสากลที่คนทั่วโลกประสบอยู่ไม่ต่างกัน ผ่านการบอกเล่าที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนซึ่งผ่านการคิดอ่าน ออกแบบมาอย่างเต็มไปด้วยลูกเล่นชั้นเชิง เป็นหนังที่ฮอลีวู้ดเองก็แทบจะไม่เคยสร้างออกมาเลยด้วยซ้ำ
ความใจกว้างของกรรมการออสก้าร์ ที่ตอนนี้สมาชิกของสถาบันศิลปะวิทยาการภาพยนตร์มีร่วมหลายพันคน การเข้ามาของคนรุ่นใหม่ๆ แนวคิดทันสมัย เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลาย เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หรือคิดอีกแง่ ออสก้าร์อาจจะเบื่อกับการต้องแก้ข้อครหามากมายในช่วงหลายปี ทั้งการกีดกันคนผิวสี จนต้องมีแคมเปญ Oscar So White การถูกมองว่ากีดกันสิทธิสตรี ไม่ยอมให้โอกาสกับคนทำหนังผู้หญิง
ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ออสก้าร์ที่ผ่านมา ไม่เคยเปิดโอกาสให้หนังสัญชาติอื่นนอกจากอเมริกันหรือหนังที่เป็นผลผลิตจากสตูดิโอฮอลีวู้ดได้รับเชิดชู ชื่นชม ให้โลกได้รู้จักถึงความยอดเยี่ยมเลยสักครั้ง และครั้งนี้เองอาจเกรงว่าถ้าหากมองข้าม Parasite ไปคงไม่แคล้วโดนข้อหา Racist เหยียดเชื้อ หมิ่นชาติเป็นแน่
เรื่องโดย
ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
อดีตบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมบันเทิง ผู้รักการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือและเดินทางท่องเที่ยว ผ่านงานเบื้องหลังมามากมายทั้งโปรดิวเซอร์รายการ และผู้กำกับละครโทรทัศน์