ความแตกต่างเชิงบวกระหว่างนักการเมืองที่มาจากประชาชน กับนักการเมืองกลายพันธุ์ที่ลอกคราบมาจากข้าราชการประจำ แล้วเข้าสู่อำนาจการเมืองด้วยวิธีพิเศษ ได้ปรากฏรูปธรรมให้เห็นเป็นประจักษ์ผ่านมติเอกฉันท์ของ 4 รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เห็นชอบให้แบนเคมีเกษตรที่มีพิษร้ายแรงคือพาราควอต-คลอไพริฟอส-ไกลโฟเซต โดยให้มีผลทันทีภายในสิ้นปีนี้
ถอยหลังกลับไปในห้วง 5 ปีที่รัฐบาล ซึ่งมาด้วยวิธีพิเศษ แถมผู้นำรัฐบาลยังมีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่กลับไม่ใช้ความเด็ดขาดสั่ง”ประหาร” 3 สารพิษ เพื่อคุ้มครองชีวิตประชาชน ให้หลุดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อ”ตายผ่อนส่ง” ทั้งๆที่คุณหมอปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ขณะนั้นแสดงจุดยืนแข็งขันให้ระงับการใช้ 3 สารพิษ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตประชาชน และคุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ยืนยันพิษภัยร้ายกาจของ 3 สารพิษในการทำลายชีวิตประชาชน ด้วยชุดข้อมูลทางการแพทย์
ผู้นำรัฐบาลตอนนั้น เหมือนจะพยายามฟังความรอบข้าง เพื่อความละเอียดรอบคอบ และหวังอยากให้ผลลัพธ์การบริหารจัดการ 3 สารพิษออกมาพึงพอใจทุกฝ่าย
แนวทางดำเนินการต่อ 3 สารพิษของท่านผู้นำรัฐบาลเวลานั้น เน้นส่งเสริม สนับสนุนให้จัดตั้งคณะกรรมการ…คณะอนุกรรมการ…คณะทำงาน ไปศึกษารายละเอียด พร้อมๆกับแสวงหาสารทดแทน 3 สารพิษ ที่มีสรรพคุณในการควบคุมวัชพืช แต่ไม่เป็นพิษเป็นต่อชีวิตเกษตรกรผู้ใช้ และประชาชนทั่วไปที่บริโภค
บรรดาผลการศึกษาของคณะกรรมการ…คณะอนุกรรมการ…คณะทำงาน ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นทำงานทับกันไปซ้อนกันมา พอจะสรุปรวบยอดได้ 2 ประเด็น
1). ข้อมูลความเป็นอันตรายของ 3 สารพิษต่อสุขภาพ ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ….คงต้องรอให้พ่อแม่พี่น้องลูกเมียของกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการวัตถุอันตรายโดนเข้าซะก่อน จึงจะน่าเชื่อถือละซิ!
2). สารอื่นที่มีสรรพคุณทดแทน 3 สารพิษ มีราคาสูง เป็นภาระแก่พี่น้องเกษตรกร….กรณีนี้สะท้อนประจานความไม่ใส่ใจของกรมวิชาการเกษตร ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อการพึ่งพาตัวเองในการพัฒนาสารกำจัดวัชพืช ทั้งที่ความเคลื่อนไหวกดดันให้แบน 3 สารพิษเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
ข้าราชการประจำที่เป็นแนวร่วมกลุ่มผลประโยชน์ 3 สารพิษ ทำผลงานปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์มูลค่าปีละกว่าแสนล้านบาท แก่กลุ่มผลประโยชน์ 3 สารพิษประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอดตลอดมา ตราบจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปเป็นรัฐมนตรี
ข้าราชการประจำบางส่วนพยายามรักษาผลประโยชน์กลุ่มทุน 3 สารพิษ ด้วยการ”ดื้อเงียบ”ทำไขสือ ไม่ยอมรายงานข้อมูลรายละเอียดปริมาณสต็อค 3 สารพิษตามคำสั่งรัฐมนตรี โดยเข้าใจว่ารัฐมนตรีคนนี้ก็เหมือนกับรัฐมนตรีคนก่อนๆ….สั่งๆๆเดี๋ยวก็ลืม
ขอโทษทีรัฐมนตรีมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ต่างจากรัฐมนตรีคนก่อนๆลิบลับ…เธอไม่เพียงสั่งแล้วไม่ลืม แถมยังลุยไปทวงถึงรังกรมวิชาการเกษตร และท้าทายให้หาคนมาปลดซะด้วย เลยจ๋อยกันไปทั้งกรม ทั้งกระทรวง
น่าสังเกตว่าปฏิกิริยาแข็งกร้าว และเกรี้ยวกราดต่อ 3 สารพิษ ถูกจุดประกายจากรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ที่ประสานเสียงกันหนักแน่นทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค-รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข และนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯแล้วส่งแรงกระเพื่อมไปยังกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี ยังมีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ 3 สารพิษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุอันตราย แต่ยังนิ่งดูดาย ปล่อยให้กลุ่มทุนที่ทำมาหากินกับผลประโยชน์ 3 สารพิษ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มทุนข้ามชาติจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา มากอบโกยผลกำไรมหาศาลออกไปจากประเทศไทย
กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ไม่เคยกระโตกกระตากให้ชาวบ้านรับรู้ถึงปริมาณนำเข้า 3 สารพิษและราคานำเข้า ก็ไม่แน่ว่าเป็นราคานำเข้า”เทียม”แบบที่เคยเกิดขึ้นกับราคานำเข้าบุหรี่-เหล้า เพื่อหวังผลเสียอากรนำเข้าถูกๆหรือไม่
ทำนองเดียวกันกรมการค้าภายใน ก็ไม่รู้สึกรู้สาใดๆกับข่าวมูลค่าการนำเข้า 3 สารพิษกับมูลค่าการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งเหลื่อมล้ำกันถึง 3 เท่าตัว
สุดท้ายเกษตรกร คือเหยื่อถูกรวมหัวกันขูดรีด แล้วส่งความมั่งคั่งออกนอกประเทศ