ตอบหน่อยได้ไหม? ตอบหน่อยได้ไหม?
รัฐบาลที่เคารพรักสุดใจขาดดิ้น…ชาวบ้านต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอีกกี่ชั่วคน
ถึงจะหลุดพ้นวงจรชีวิตรันทดจากน้ำท่วม ภัยแล้งกันซะที
ทุกวันนี้เครื่องไม้เครื่องมือพยากรณ์อากาศ…ติดตามสถานการณ์น้ำ มีพร้อมสรรพ แถมกลไกบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จก็ถูกออกแบบจัดตั้งเรียบร้อย ตามคำสั่งพิเศษ คสช.ที่ 46/2560 ภายใต้ชื่อที่รู้จักกันทั่วไป “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” แต่จนแล้วจนรอดชาวบ้านวันนี้ในยุคที่คุยนักคุยหนาเป็นยุค “ประเทศไทย 4.0” กลับยังต้องเผชิญภัยแล้งน้ำท่วมด้วยความทุลักทุเลน่าเวทนา ไม่ต่างอะไรกับคนรุ่นปู่ย่าตาทวดยุค 0.4 เมื่อหลายสิบปีก่อน
เจตนารมณ์การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่หมายมั่นปั้นมือให้เป็นศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ บูรณาการข้อมูลสารสนเทศ บูรณาการแผนงาน บูรณาการโครงการ บูรณาการงบประมาณ ดูจะจำกัดอยู่ใน “โลกแห่งความฝัน” ที่เป็นเหมือนหนังคนละม้วนกับ “โลกแห่งความจริง”
ในโลกของความจริง สำนักงานทรัพยากรย้ำแห่งชาติ อุปมาเหมือน “ยักษ์ไร้กระบอง”.. ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่.. ดูเหมือนจะเป็นชุมทางข้อมูลน้ำ แต่ก็แค่ “ดูเหมือน”
[restrict] กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์…กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดีอี ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาสร้างดาวกันคนละดวง…แผนงานของใครก็ของมัน…งบประมาณของใครก็ของมัน
ศัพท์บัญญัติ “บูรณาการ” แค่เขียนไว้ให้ดูดี…ดูกิ๊บเก๋ไปยังงั้นเอง !
ข้อมูลความเดือดร้อนเสียหายของพี่น้องประชาชนจากน้ำท่วม ภัยแล้ง แทนที่จะมีชุดเดียว เพื่อเป็นฐานข้อมูลหลักกำหนดแนวทางมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าเงินงบประมาณมากที่สุด ก็มีสารพัดชุด สุดแท้แต่ละส่วนราชการจะประโคมกันออกมา
สุดท้ายชาวบ้านได้แต่สับสน งุนงง ไม่รู้จะเชื่อถือข้อมูลของหน่วยงานไหนดี ?
กระทรวงเกษตรฯ บอกภัยน้ำท่วมทำเรือกสวนไร่นาสาโทเสียหาย กว่า 6 แสน 6 หมื่นไร่.. เป็ด-ไก่-วัว-ควาย-แพะ เสียหายกว่า 6 แสน 7 หมื่นตัว
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บอกมี 15 จังหวัดประสบภัยฉุกเฉิน และมี 20 จังหวัดประสบภัย มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 1 แสน 5 หมื่นหลัง… มีคนตายแล้ว 19 คน
ภายใต้บรรยากาศแข่งขันกันทำความดี ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วม ไม่เห็นจะมีหน่วยงานไหนสะกิดเตือนให้เตรียมรับมือภัยแล้งที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ภัยน้ำท่วม
ตอนนี้ ขณะที่ทุกหน่วยงานฝักใฝ่ตามแห่กระแสขับไล่ภัยน้ำท่วม แต่ข้อมูลปริมาตรน้ำกักเก็บใน 38 อ่างเก็บน้ำสำคัญทั่วทั้งประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่แค่ 62% น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 14% ระวังอย่าให้ชาวบ้านพ้นทุกข์น้ำท่วม แล้วต้องก้มหน้าทนทรมานกับภัยแล้งแบบเฉียบพลัน ! [/restrict]