เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันนี้เกือบทุกเครื่องน่าจะเรียกว่าดับหมด ทั้งการลงทุนภาคเอกชนก็นิ่งมานาน ภาครัฐก็ยังถือว่าต่ำ ส่งออกและการ ท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศก็แผ่วๆ ที่พอจะไปได้คงเรื่องการบริโภคแต่หากดูไส้ในจริงๆ การบริโภคที่เดินหน้าได้ไม่ใช่มีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะจีดีพี. ที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำและกระจุกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม แต่มาจาก “การกู้หนี้” มาเพื่อใช้บริโภค
จึงไม่ต้องแปลกใจที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานล่าสุดว่า ไตรมาส 2 ปี 2562 หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปี 2562 มูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท มูลค่าหนี้สินครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 78.7% ถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส
หนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองแค่เกาหลีและสูงเป็นอันดับที่ 11 จาก 70 ประเทศทั่วโลกปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78.7% ของจีดีพี เป็นผลมาจากภาคธุรกิจมีกลยุทธ์ มีโปรโมชั่น ลด แลก แจกแถม จูงใจลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น ซึ่งตรงจริตคนไทยที่ “ช้อป ง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” จึงทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีหนี้มากขึ้น
[restrict]จึงไม่แปลกใจที่คนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคน มาเป็น 1.5 แสนบาทต่อคนในปี 2560 ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เข้าไปด้วย
ที่น่าเศร้าใจคือ มากกว่า 50% ของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุต่ำกว่า 25 ปีนับวันยิ่งจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิม มีหลายบัญชี สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูงขึ้น
ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปดูการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้กู้รายเดิม แต่มีสัดส่วน 1 ใน 5 ที่มาจากการขยายตัวของผู้กู้รายใหม่ซึ่งกู้ซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์และเป็นหนี้เสียมากที่สุด รองลงไปเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้กู้เดิม
ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือ “เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น” หากพลิกข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556-2561 ยืนยันว่าดัชนีเศรษฐกิจยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่รายได้ประชากรเติบโตต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาตลอด และเมื่อหักเงินเฟ้อ “รายได้แทบไม่มีการเติบโต” โดยเฉพาะรายได้ประชากรในภาคเกษตร
เมื่อรายได้ไม่เพิ่ม ขณะที่มีความต้องการบริโภคจึงต้องกู้ ต้องก่อหนี้ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มก็ไม่ลดลง เพราะประชาชนก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตสูงสุดของสินเชื่ออุปโภคบริโภค 12.6% สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เศรษฐกิจที่เติบโตด้วยหนี้” “หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอยสัญญาณหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้
คำถามที่หลายคนสงสัยหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น มีต้นตอมาจากไหน คำตอบคือ มาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา การกู้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากภัยน้ำท่วมใหญ่ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งระดับครัวเรือนและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งการออกมาตรการเพื่อแก้ไขหนี้ต่างๆ นานาของภาครัฐที่ออกมานั้นไม่ได้ผลหากครัวเรือนยังขาดวินัยทางการเงิน
นอกจากนี้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่ใช้งบประมาณจำนวนมากกับนโยบายรัฐสวัสดิการ และการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เน้นนโยบายรัฐสวัสดิการที่จะจ่ายให้มากกว่าเพื่อสร้างคะแนนนิยม
นอกจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นน่ากังวลแล้วขณะเดียวกันสถานการณ์ “หนี้สาธารณะ” ของไทยก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องให้ความสำคัญกับ “วินัยการคลัง”อย่างเข้มงวด ไม่ก่อหนี้แบบที่ไม่คุ้มค่าแม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำกว่ากรอบวินัยการคลังคือไม่เกิน 60% ของจีดีพีก็ตาม แต่ อย่าชะล่าใจ เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะดังกล่าวไม่ได้รวมภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหนี้รัฐวิสาหกิจที่ยังมีปัญหาขาดทุนอยู่อีกหลายแห่ง
ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ณ พ.ย. 2561 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 6.81 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.82% ต่อจีดีพี และประเมินว่าในปี 2562 จะปรับเพิ่มเป็น 43.3% ต่อจีดีพีขณะที่ภาพการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศอยู่ในระดับต่ำ แม้หลายปีที่ผ่านมาอาจเห็นการโหมโรงเรื่องลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐมากมาย แต่เอาเข้าจริงจนถึงวันนี้การลงทุนภาครัฐก็ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่ามัวหลงดีใจเศรษฐกิจของประเทศที่ยังขยายตัวอย่างแผ่วๆได้ทุกวันนี้มาจาก”ภาระหนี้”ที่เพิ่มขึ้นทั้ง “หนี้ครัวเรือน” และ “หนี้สาธารณะ”ล้วนๆ[/restrict]