HomeOpinionsกู้อย่างมีธรรมาภิบาล

กู้อย่างมีธรรมาภิบาล

ราวๆ กลางเดือนที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยนำโดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการฯ ร่วมกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ประกาศความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ นี่ทำกันยังไง เรื่องนี้ประธานสมาคมธนาคารไทย คุณปรีดี ดาวฉาย ขยายความเพิ่มเติมว่า กลไกการปล่อยสินเชื่อหรือการสนับสนุนทางการเงินถือว่า มีบทบาทที่สำคัญในการที่จะป้องกันและยับยั้งความเสี่ยงที่อาจจจะขยายผลเป็นความเสี่ยงทางการเงินและทางเศรษฐกิจของประเทศได้

ดังนั้นการอนุมัติสินเชื่อต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมมีเหตุมีผลซึ่งเมื่อธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติร่วมกันและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้วก็จะเป็นสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินและประเทศชาติในระยะยาวได้เช่นกัน

จะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงประมาณว่า ถ้าเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ ก็ต้องพิจารณาว่าธุรกิจนั้นเหมาะควรแล้วที่จะได้รับสินเชื่อ ไม่ใช่ธุรกิจทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำลายอะไรอื่นๆ ที่ไม่ควรทำลาย ส่วนถ้าเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนทั่วไป ก็ควรปล่อยอย่างมีคุณภาพ แบงก์ควรมีส่วนร่วมสร้างวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงิน น่าจะประมาณนั้น

- Advertisement -

[restrict]เพราะเรื่องกู้เงินนี่บางทีก็เหมือนความรักตบมือข้างเดียวมันไม่ดังหรอกค่ะ

ดิฉันถึงแปลกใจที่เจอคนมีรายได้เข้าเกณฑ์ทำบัตรเครดิตปุ๊บ ทำได้ทีเดียว 7 ใบรวด คนกู้ก็เหลือเกิน คนปล่อยกู้ก็เหลือเกินพอกัน ถ้าแบงก์ (ซึ่งสามารถเช็คข้อมูลลูกหนี้ในเครดิต บูโร ได้อยู่แล้ว) ไม่ตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันแย่งกันปล่อยกู้ ลูกหนี้จะเอาปัญญาที่ไหนไปก่อหนี้สูงๆ ตรงนี้แหละมั้ง ที่บอกว่า แบงก์ต้องมีธรรมาภิบาล แต่ในขณะเดียว ลูกหนี้ก็ต้องกู้อย่างมีธรรมาภิบาลด้วย

หลักการกู้อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับลูกหนี้ ต้องทำอย่างไร ก็ต้องทำประมาณนี้แหละค่ะ 

1.มีสติก่อนยืมสตางค์หรือก่อนกู้

สาเหตุที่ทำให้หลายคนเป็นหนี้มาจากการจับจ่ายใช้สอยเกินตัว ไม่ว่าจะเป็นความต้องการโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่หรือรถคันใหม่ป้ายแดง ซึ่งบ่อยครั้งเกิดจาก “ความต้องการ” มากกว่า “ความจำเป็น” ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของ เราควรพิจารณาก่อนว่า ของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของเราหรือไม่ และของที่มีอยู่เดิมยังสามารถใช้งานต่อไปได้หรือไม่

2.ถ้าจะกู้จริงๆต้องเลือกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองว่าไหวแน่ๆ

ดอกเบี้ยต่ำจะมาพร้อมหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ดอกเบี้ยก็จะต่ำกว่าสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดที่ไม่ต้องมีหลักประกัน ดังนั้น ถ้าหากจำเป็นต้องใช้เงินหรือต้องกู้จริงๆ ก็ควรเลือกสินเชื่อแบบมีหลักประกันก่อนแบบไม่มีหลักประกัน และต้องคำนวณก่อนกู้ทุกครั้งว่า เรามีความสามารถในการชำระหนี้จริงๆ

3.อย่าผิดนัดชำระหนี้

เมื่อเป็นหนี้ สิ่งสำคัญคือ การมีวินัยในการชำระหนี้ ต้องชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน ถ้าหากกลัวว่าจะลืมชำระหนี้ ก็สามารถสมัครบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ หรือบันทึกลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อเตือนความจำ เพราะการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากจะตามมาด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ยังอาจจะมีเรื่องของค่าปรับ ค่าทวงถาม เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ไม่นับรวมที่ต้องยุ่งยากรำคาญใจเมื่อถูกทวงถาม

4.ชำระหนี้ต่องวดให้สูงขึ้นจะช่วยลดหนี้ได้เยอะ

เทคนิคการลดหนี้ด้วยการ “โปะ” หรือการจ่ายหนี้ต่องวดมากกว่าจำนวนที่กำหนด จะช่วยลดหนี้ได้เร็วขึ้น แต่ก่อนที่จะตัดสินใจโปะหนี้นั้น ควรพิจารณาก่อนว่า หนี้ที่มีอยู่คิดดอกเบี้ยแบบไหน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งส่วนใหญ่จะครอบคลุมสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคล การโปะก็จะช่วยให้ยอดเงินต้นลดลงได้เร็วขึ้น ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดน้อยลง แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องโปะค่ะ 

ถ้าตั้งหลัก “กู้อย่างมีธรรมาภิบาล” เราก็จะเป็นลูกหนี้เงินกู้ที่ดีมีคุณภาพและสุดท้ายเราก็จะไม่เดือดร้อนจากการก่อหนี้ของตัวเองค่ะ[/restrict]

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News