ช่วงเดือนกันยายนจนถึงตุลาคมนี้ บรรดาธุรกิจร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ รีสอร์ตพักผ่อนหย่อนใจทั้งหลายคึกคักเป็นพิเศษเพราะเป็นห้วงเวลาเลี้ยงอำลาชีวิตการทำงานของใครหลายๆคน
แต่ก็มีไม่น้อยแทนที่จะดีใจว่าจะได้พักผ่อนหลังเหน็ดเหนื่อยจากตรากตรำทำงานมานานจนอายุ 60 ปี กลับรู้สึกวิตกกังวลกับเวลาที่เหลืออยู่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้ตลอดรอดฝั่งเพราะในช่วงที่ทำงานยังพอได้รับเงินเดือนทุกเดือน เมื่อเกษียณก็จะไม่มีรายได้อีกต่อไป ไปดู “เงินออมเพื่อวัยเกษียณ” ก็ไม่ค่อยจะมีเงินเก็บหรือมีเงินออมสักเท่าไหร่
เมื่อไม่นานมานี้มีห้างโมเดอร์นเทรดแห่งหนึ่งที่เพิ่งประกาศเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งไม่กี่วันนี้ประกาศรับคนเกษียณอายุเข้าทำงานหลายอัตรา ร้านค้าในห้างฯบางแห่งก็หันมารับคนสูงอายุเข้าทำงานเพราะคนเหล่านี้มีประสบการณ์เทียบแล้วคุ้มค่ากว่า บางคนก็ออกมาค้าขายเล็กๆน้อยๆ แต่ก็มีความเสี่ยง ดีไม่ดีเงินที่เก็บหอมรอมริบเข้าตำรา”ทุนหาย กำไรหด”เจ๊งเอาง่ายๆ
เมื่อก่อนคนที่เกษียณอายุ ก็จะอาศัยฝากแบงก์กินดอกเบี้ยไว้เลี้ยงตัวเอง ทุกวันนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากบ้านเราต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หวังพึ่งพาไม่ได้แล้ว คนเกษียณส่วนใหญ่รายได้น้อยจึงชักหน้าไม่ถึงหลัง จากข้อมูลธนาคารโลก ระบุว่า คนไทยมีเงินออมรวมกันเพียง 7% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ระดับหนี้ต่อครัวเรือนยังสูง 130%จีดีพี.ถ้ารวมนี้ทั้งหมดทั้งสหกรณ์ หนี้ กยศ.และอื่นๆ แต่มีเงินออมเพียง 8-10% เท่านั้น ปกติจะต้องออม 10–15% ของรายได้
สมมติรายได้ 2 หมื่นบาท ต้องออมไม่ต่ำกว่า 2 พันบาทต่อเดือน และหากคำนวณบนพื้นฐานความต้องการรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยที่ 16,000 บาทต่อเดือน นั่นหมายความว่าคนๆหนึ่งจะต้องมีเงินออมไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านบาท แต่ในชีวิตจริงคนไทยเกือบจะ 90%ที่เกษียณอายุมีเงินไม่ถึง 4.5ล้าน ถ้าจะมีก็คงเป็นพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เงินเดือนสูงๆ หรือข้าราชการมีสีที่คิดอายุงานตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออายุน้อยๆ
ข้อมูลจาก Bloomberg รายงาน สวิตเซอแลนด์และฟินแลนด์ ที่มีโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้วนั้น ต่างจากไทยอย่างมากก็คือ รายได้ต่อหัวต่อปีของทั้งสองประเทศ อยู่ 2.4 ล้านบาทต่อปี และ 1.5 ล้านบาทต่อปี ต่างจากไทย อยู่ที่ ไม่ถึง 2 แสนบาทเท่านั้น
นั่นแปลว่า หากเขาออมน่าจะมีเงินพอในการใช้จ่ายในวัยเกษียณขณะที่เรายังมีหนี้ท่วมหัวแถมต้องเจอกับวิกฤต “ขาดเงินออมยามเกษียณ” สวนทางกับอายุคนไทยที่มีอายุยืนขึ้น ในอนาคต เราจะเห็นคนมีอายุถึง 90ปี เป็นเรื่องปกติ แต่ช่วงเวลาหาเงินของเรายังอยู่ที่อายุ 60 ปีซึ่งเราต้องใช้เงินเพื่อมีชีวิตต่ออีก 30-40 ปีหลังจากเกษียณอายุ
นี่คือความท้าทายคนที่รู้จักมักคุ้นหลายคนบอกว่า คงจะต้องทำงานไปเรื่อยๆจนถึง70ปี แต่บางคนบอกว่าจะทำจนกว่าจะทำไม่ไหว เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน
ในหลายๆประเทศรัฐบาลได้วางแผนเกษียณให้ประชาชนของเขาที่น่าสนใจ คือสิงคโปร์ ต่ออายุเกษียณอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมีการวิเคราะห์และวางแผนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระดับประเทศได้อย่างรอบด้าน โดยปัจจุบันได้กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 62 ปี แต่นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างโดยอ้างเหตุว่าอายุมากแต่นายจ้างจะต้องเสนอการจ้างงานที่เรียกว่า Re-employment ที่เป็นสัญญาจ้างงานอย่างน้อยหนึ่งปีเป็นต้น
แต่ของเรารัฐบาลยังไม่มีนโยบายอะไรชัดเจน ปล่อยตามมีตามเกิดให้เป็นภาระของประชาชนที่ต้องช่วยตัวเองไปก่อนก็แล้วกัน