HomeOpinionsใบไม้ที่ปลิดปลิว...

ใบไม้ที่ปลิดปลิว…

“ใบไม้..ผลิใบ..บอบบาง..ไร้ค่า…ร่วงหล่น”  แม้จะเป็นวาทกรรมเชิญชวนผู้คนให้สนใจติดตามเรื่องราวของละคร”ใบไม้ที่ปลิดปลิว” จากบทประพันธ์ของ”ทมยันตี” ยอดนักประพันธ์ขั้นเทพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แพร่ภาพออกอากาศทางทีวีดิจิตอลช่องวัน หมายเลข 31 แต่ช่างมีความพ้องกับเคราะห์กรรมแสนรันทดของคนในแวดวงทีวีราวกับแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน…

            จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่ในละครเป็นเรื่องราวของชายใจหญิง…เป็นเรื่องราวของคามรักระคนแค้น แต่สำหรับคนที่แขวนชีวิตไว้กับทีวี ไม่ต่างอะไรกับใบไม้ที่ถูกปลิดให้ปลิวเคว้งคว้าง เป็นเหยื่อสังเวยความคิด..การตัดสินใจ…และการบริหารจัดการที่บกพร่อง ผิดพลาดของผู้กุมอำนาจการบริหารจัดการองค์กร

            ย้อนอดีตกลับสู่วันวานเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2556 บรรดาวงศาคณาญาติทายาทเศรษฐีมหาเศรษฐีทั้งหลายต่างพกพาความกระเหี้ยนกระหือรือเต็มพิกัด กดตัวเลขใส่จำนวนเงินประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีกันอุตลุดเพียงต้องการให้ได้ครอบครองใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีอย่างน้อย 1 ใน 24 ใบมากอดกกให้จงได้…เรื่องเจ๊งกะบ๊งล่มจมล้มละลายไม่สน!!!

            [restrict]ผลของการแก่งแย่งช่วงชิงใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีชนิดลืมเจ๊ง ทำให้ตัวเลขประมูลใบอนุญาตรวม 24  ใบเกิดอาการอักเสบบวมเป่งขึ้นไปถึง 50,862 ล้านบาท เล่นเอาบรรดาคณะกรรมการ กสทช.ยิ้มแก้มป่องไปตามๆกัน

- Advertisement -

            ทำนองเดียวกันตลาดแรงงานคนทีวีก็อึกทึกคึกคัก..มีการไขว่คว้าล่าตัวกัน ด้วยการเสนอค่าตัวค่าหัวแพงลิบลิ่ว

            ณ เวลานั้นเงินเดือนคนทีวี ระดับกระจอกงอกง่อยที่สุดตั้งต้นกันแถวๆ  2 หมื่นบาท ไต่ระดับขึ้นไปถึงเฉียดๆ 3 แสนบาท

            วันเปลี่ยน..เวลาเปลี่ยน…สถานการณ์เปลี่ยน…เหตุปัจจัยเปลี่ยน…สัญญาณความสวยสดใสของคนทีวีก็เปลี่ยนเป็นสัญญาณความหวาดหวั่นขวัญผวา…

            จุดเปลี่ยนจาก”ลางดี” เป็น “ลางร้าย” คืออุบัติการณ์”จอมืด”ที่ช่อง 15 และช่อง 17 ของค่ายทีวีพูล ภายใต้บังเหียนของ”ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ”พันธุ์ทิพา  ศกุณต์ไชย”  ในช่วงรอยต่อระหว่างคืนวันที่ 30 ตุลาคม2558 กับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นห้วงเวลาคล้อยหลังวันแรกออกอากาศ 1 เมษายน 2557  เพียง 19 เดือน ทั้งที่อายุใบอนุญาตมีกำหนดถึง 180 เดือน

            นับจากบัดนั้นเป็นต้นมา อาการกระเพื่อมในวงการทีวีได้เพิ่มกำลังแรงขึ้น…มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้าไปครอบงำกิจการทีวีช่อง 34 ต่อเนื่องด้วยช่อง 25

            ทำนองเดียวกันตระกูลปราสาททองโอสถ ที่ถือครองใบอนุญาตกิจการทีวีช่อง 36 อยู่แต่เดิม ก็ขยับขยายกระจายการลงทุนเข้าไปครอบงำกิจการทีวีช่อง 31 ทั้งที่จัดอยู่ในประเภท”ความคมชัดสูง”เหมือนกัน โดยที่ กสทช.ใจดี แทนที่จะกวดขันบังคับใช้ระเบียบกฏเกณฑ์ว่าด้วยการ”ห้ามถือครองใบอนุญาตประเภทเดียวกันเกินกว่า 1 ใบอนุญาต”ซึ่งกำหนดไว้ใน Term of Reference เมื่อตอนเปิดประมูลด้วยความเคร่งครัดตรงไปตรงมา….

            อาการของธุรกิจทีวียังคงเสื่อมทรุดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องออกคำสั่งแบบทิ้งทวน ก่อนสิ้นสภาพ เปิดทางให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถแจ้งความจำนงคืนใบอนุญาต แลกกับการได้รับเงินชดเชย ขณะเดียวกันผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ประสงค์จะคืนใบอนุญาต ก็จะได้รับสมนาคุณยกเว้นไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ค้างอยู่จำนวน 2 งวด และไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ MUX และ Must Carry โดย กสทช.จะรับเหมาเป็นเจ้ามือจ่ายให้แทนตลอดระยะเวลา 120 เดือนที่เหลืออยู่ของอายุใบอนุญาต

            คำสั่งทิ้งทวนของ คสช. เปรียบเหมือน”น้ำทิพย์”หลั่งชโลมผู้ประกอบการให้ชุ่มชื่น แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นเหมือน “น้ำพิษ” สาดใส่คนตัวเล็กตัวน้อยที่แขวนชีวิตไว้กับหน้าที่การงานในแวดวงทีวี ให้ต้อง”ตกงาน”กันระเนระนาด ราวกับใบไม้ที่ปลิดปลิว

            ผู้ประกอบการที่ตัดสินใจ”ไม่ไปต่อ” โดยเลือกใช้สิทธิ์คืนใบอนุญาต ปล่อย”จอดำ” จำนวน 7 ช่อง โดยประเดิมมีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม เรื่อยไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม ได้รับเงินชดเชยรวมกัน 2,930 ล้านบาท พร้อมๆกับการปลดปล่อยลอยแพคนทีวีประมาณ 2,000 ชีวิต ให้เป็นเหมือนกับใบไม้ที่ปลิดปลิว

            ผู้ประกอบการอีก 15 ช่องที่เหลือ ก็จะได้รับสมนาคุณก้อนมหึมาในรูปของการงดเว้นไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคิดเป็นเงินรวมกันจำนวน 13,620  ล้านบาท สมทบกับค่าบริการแพร่สัญญาณภาพและเสียงหรือค่า MUX และ Must Carry ที่ กสทช.ใจดีเป็นเจ้ามือเหมาจ่ายแทนให้อีก 19,200 ล้านบาท

            สรุปรวมความแล้วการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวี ที่มีตัวเลขแรกเริ่มสวยหรูถึง 50,862 ล้านบาท แต่มียอดรายรับจริงหยุดอยู่ที่ 35,603 ล้านบาท ขณะที่มีภาระต้องจ่ายชดเชยแก่ผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย ที่คืนใบอนุญาต 2,930 ล้านบาท และมีภาระต้องจ่ายค่า MUX และ Must Carry  แก่ผู้ประกอบการจำนวน 15 รายที่”ไปต่อ”  อีก 19,200 ล้านบาท จะเหลือเป็นยอดรายรับแท้จริงสุทธิแค่ 13,473 ล้านบาทเท่านั้น ตัวเลขจำนวนเงินประมูลเริ่มต้นที่ 50,862 ล้านบาทคือมายาภาพ…เป็นเพียงภาพลวงตา แต่ภาพจริง…เจ็บปวดจริง…หดหู่จริงคือจำนวนคนทีวีนับพันชีวิตที่เป็นเหยื่อสังเวยความบกพร่องของทั้งกสทช.และผู้ประกอบการ….[/restrict]

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News