ระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi หรือ decentralized finance) เป็นแพลตฟอร์มที่นำเงินสกุลคริปโต (Cryptocurrency) มาใช้ให้เกิดมูลค่าที่งอกเงย โดยเปิดให้ผู้ให้กู้ยืมและผู้กู้ยืมสามารถทำธุรกรรมการกู้เงินโดยไม่ต้องผ่านผู้ควบคุม หรือ ธนาคาร
การกู้ยืมเงินสกุลคริปโตบนแพลตฟอร์มระบบการเงินไร้ตัวกลางได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และคิดเป็นมูลค่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างต้องการผลตอบแทนที่สูง ในขณะที่ธนาคารทั่วโลกปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส
แพลตฟอร์มของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi) จะอยู่บนซอฟต์แวร์เปิด มีการใช้โค้ดที่เรียกว่า Smart Contract ซึ่งกำหนดขึ้นโดยระบบที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขแทนกันได้ และใช้อัลกอริทึมในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งตามเวลาจริงโดยขึ้นอยู่กับกลไกตลาด อุปสงค์และอุปทานเป็นหลัก โดยผู้ฝากเงินสกุลคริปโตจะเป็นผู้รับดอกเบี้ยและผู้กู้ยืมจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยเข้าสู่ระบบ
ระบบการเงินไร้ตัวกลางถือเป็นอนาคตของการให้บริการทางการเงิน ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือบริษัทสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้อย่างง่าย ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
หลักการสำคัญของ DeFi คือ ความเชื่อมั่นและความโปร่งใส ส่วนข้อควรระวังในการใช้ DeFi คือ ผู้ใช้งานจะต้องศึกษารายละเอียดของ Smart Contract ที่ใช้บริการให้ดี หรือเลือกใช้บริการที่ได้รับการประเมินความเสี่ยงจากผู้เชี่ยวชาญ Smart Contract Auditor และดูจากจำนวนผู้ใช้งานเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์มองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะเป็นฟองสบู่ก้อนต่อไป นับตั้งแต่มีการเสนอขายเหรียญดิจิทัลเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering (ICO)) ที่ส่งผลให้นักลงทุนที่ขาดประสบการณ์หันไปลงทุนในสกุลเงินคริปโตกันอย่างล้นหลามเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนพากันขาดทุนและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง