เมืองไทยประกันชีวิต เปิดตัว ประกันสุขภาพ “D Health” คุ้มครองแบบ เหมาจ่าย ชูจุดขาย “เข้าใจง่าย จ่ายเต็มแม็กซ์” เจาะกลุ่มลูกค้าฟรีแลนซ์ พร้อมโชว์ยอดดาวโหลด “MTL Click” พุ่ง 2.8 แสนรายในช่วง 2 เดือน ลดเสี่ยงโควิด ลูกค้าแห่ใช้คำปรึกษาหมอผ่านแอปฯ ชี้เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิตเน้นสร้างความยั่งยืน ชูขายแบบประกันคุ้มครอง-สุขภาพ ลดประกันสะสมทรัพย์หลังแทรนด์ดอกเบี้ยลดลง กดผลตอบแทนต่ำ
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด -19 ที่นำมาสู่โลกชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ทำให้คนใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อมองหาประกันชีวิตและสุขภาพที่ตอบโจทย์เรื่องค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม บริษัทจึงได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบ D Health” เก็ทง่าย จ่ายเต็มแม็กซ์” ซึ่งให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในแบบเหมาจ่ายตั้งแต่ 1 ล้านบาท สูงสุด 5 ล้านบาท
โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายคนทำงานฟรีแลนซ์ กลุ่มที่ไม่มีสวัสดิการ รวมถึงกลุ่มที่มีสวัสดิการด้วย ซึ่งแบบประกันนี้ ผู้ซื้อจะมีความเข้าใจง่าย และไม่ซับซ้อนในเวลาเคลมเหมือนแบบประกันเดิมๆ ที่มีเงื่อนไขละเอียด
“ผู้ซื้อ D Health จะหมดกังวลเรื่องค่าห้องที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต สบายใจเรื่องค่าห้องผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู.) ที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หายห่วง เรื่องค่ารักษาพยาบาล”นายสาระกล่าว
ทั้งนี้ ความคุ้มครองเหมาจ่ายของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบ D Health จะเหมาจ่ายตามจริงดังนี้ ค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน และ ค่าห้องผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู.) ,ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน, กรณีเจ็บป่วยและกรณีผ่าตัด ทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง รวมทั้งการดูแลกันยาวๆ ให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี พร้อมกันนี้ ยังมีดีที่เลือกได้ ด้านการเหมาจ่ายตั้งแต่บาทแรก สูงสุด 5 ล้านบาท (ขึ้นกับเงื่อนไขที่กำหนด) ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง, การเหมาจ่ายแค่ส่วนเกินจากสวัสดิการที่มีอยู่ เพื่อทำให้เบี้ยถูกลง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพและโรคร้ายแรง ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เหมาะกับลูกค้าในแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
“D Health นอกจากจะได้รับความคุ้มครองแล้วเบี้ยประกันภัยยังสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ซื้อสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป” นายสาระกล่าว
นายสาระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการพัฒนาด้านบริการหลังเกิดโควิด-19 นำมาสู่โลกวิถีใหม่ (New Normal) นั้น บริษัทได้ปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับพัฒนาแอปพลิเคชัน “MTL Click” เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการการใช้งานของลูกค้า โดยได้รับการตอบรับดีมากในช่วง 2 เดือน มียอดดาวโหลดการใช้งานแอปฯดังกล่าวถึง 2.8 แสนราย
ทั้งนี้ แอปฯ MTL Click สามารถติดตามดูข้อมูลต่างๆด้านประกันชีวิตได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น การดูข้อมูลกรมธรรม์ การชำระเบี้ยประกัน การเคลม การค้นหาโรงพยาบาล การปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ผ่านบริการ Telemedicine กับโรงพยาบาลสมิติเวช หรือการรับสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า เมืองไทยสไมล์คลับ ที่ได้คัดสรรกิจกรรมสุดพิเศษ
สำหรับการให้บริการด้าน Telemedicine นั้น บริษัทได้ยกระดับบริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช ได้เพิ่มอนุสาขาของแพทย์ (Specialist) จำนวนกว่า 400 ท่าน ที่ให้การรักษาผ่าน Virtual Hospital เพิ่มอีก 53 สาขา เช่น อายุรกรรมต่อมไร้ท่อ หัวใจ สูตินารีเวช หู คอ จมูก อายุรศาสตร์ด้านการติดเชื้อแพทย์ผิวหนัง หอบหืดและภูมิแพ้ เป็นต้น ที่ให้คำปรึกษาและรักษาได้ทั้งคนไข้เก่าและใหม่
“ความคุ้มครองอย่างเต็มรูปแบบนี้ลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิตสามารถเข้าถึงได้ผ่าน feature My Healthcare ในแอปฯ MTL Click สำหรับลูกค้าประกันกลุ่ม และจะเปิดให้บริการสำหรับลูกค้าประกันเดี่ยวในวันที่ 15 ก.ค.นี้ และจะมีการขยายบริการ Telemedicine เฉพาะกิจไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาอีกถึง 48 แห่ง สำหรับผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและเป็นผู้ป่วยเดิมที่มีนัดตรวจติดตามการรักษา จะเริ่มให้บริการวันนี้ – 31 ส.ค. และเตรียมที่จะขยายสู่ Telemedicine เต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต” นายสาระกล่าว
นายสาระ กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจประกันชีวิตว่า ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตมีการหดตัวสูงถึง 21% ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่หดตัว ประกอบกับยอดเบี้ยต่ออายุที่ลดลง เนื่องจากมีประกันชีวิตที่ครบกำหนดแล้วจากประเภทสะสมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตาม เทรนด์ประกันสุขภาพมาแรงมาก โดยยอดเบี้ยยังเป็นบวกตลอดเวลา แม้ภาพรวมจะติดลบก็ตาม
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของประกันชีวิต จะเห็นการเสนอขายประกันคุ้มครองและประกันสุขภาพเป็นหลักมากกว่า ขณะที่เบี้ยประกันสะสมทรัพย์จะมีน้อยลง เนื่องจากสถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้การออกแบบประกันสะสมทรัพย์ที่ต้องการันตีผลตอบแทนทำได้ยากขึ้น ตามแนวโน้มดอกเบี้ยที่ต่ำลง ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลงต่ำเหลือ 1.2% เท่านั้น
นายสาระกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตประกันที่สินค้าความคุ้มครอง ประกันสุขภาพ ประกันชั่วระยะเวลา ประกันตลอดชีพ เครดิตไลฟ์ สัดส่วน 80% และที่เหลือ 20% เป็นพอร์ตสินค้าประกันสะสมทรัพย์ และยูนิตลิงค์ ซึ่งถือเป็นพอร์ตที่บริษัท สามารถบริหารจัดการเรื่องการลงทุนได้ในระดับที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนครอบคลุมแบบประกันที่ได้ขายให้กับลูกค้าในระยะยาว
“เรามีบุญเก่ากับการลงทุน ในส่วนของประกันที่ได้ขายให้กับลูกค้าเดิม เพราะสินทรัพย์ที่ลงทุนให้ผลตอบแทนที่ matching กับระยะเวลา ที่เราการันตีลูกค้าในระยะยาว เรามีการกระจายความเสี่ยงการลงทุน และเน้นความยั่งยืน เพราะวันนี้ต้องบอกว่า เรามองไม่เห็นภาพไกลๆเลยว่า เศรษฐกิจจะเจออะไรอีก ทุกวันนี้ การการบริหารพอร์ตดูกันเป็นรายสัปดาห์รายเดือน” นายสาระกล่าว