ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 28 มีนาคม 2566 ที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มวันนี้อาจแกว่งตัว sideways ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถวระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทมักเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของราคาทองคำมากกว่าเงินดอลลาร์ (เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้น หรือ เงินบาทอ่อนค่าลง ในเวลาที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง)
ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงของเงินบาทในวันก่อนหน้า ซึ่งอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาด หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่เงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจนแต่อย่างใด ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (แถวระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีโอกาสได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าได้จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย
ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ (ซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นมากกว่า 5 พันล้านบาท ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการทยอยซื้อบอนด์ระยะสั้นในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น)
อย่างไรก็ดี ในระหว่างวัน ควรระวังเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลาร์ และเสี่ยงที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว หากรายงานข้อมูลยอดการส่งออก (Exports) และดุลการค้า (Trade Balance) ออกมาแย่กว่าคาด หรือ ดุลการค้าขาดดุลสูงกว่าคาดไปมาก
นอกจากนี้ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็มีโอกาสผันผวนไปตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า เงินยูโร และเงินปอนด์อังกฤษอาจย่อตัว อ่อนค่าลงได้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง หรือ แสดงความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารยุโรปที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และในช่วงราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ปรับตัวสูงขึ้นและออกมาดีกว่าคาด ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดยรวมยังคงสดใส อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเกินกว่า 5.00% ได้นาน ทั้งนี้ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้พอสมควร
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์