โดย นที ดำรงกิจการ
Head of Financial Advisory
Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย
ปี 2021 กำลังจะผ่านพ้นไป และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2022 อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาเราจะจับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจมามัดรวมกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีนี้และในปีหน้าควรเลือกลงทุนอย่างไร
เริ่มต้นกันที่ไตรมาสแรก – ความเชื่อมั่นต่อประเทศสหรัฐฯ และผลกำไรอันน่าตกใจของ Bitcoin
-
ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา นำโดยพรรคเดโมแครตคว้าคะแนนเสียงไปอย่างขาดลอยทำให้สหรัฐฯ ได้ประธานาธิบดีคนใหม่คนที่ 46 คือ นายโจ ไบเดน ด้วยนโยบาย “Build Back Better” และการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกและทำสถิติสูงสุดหลังจากที่นายโจ ไบเดนเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดแรงงานได้
-
Bitcoin ที่มาแรงตั้งแต่โควิด 19 ระบาดในปี 2019 ยังคงทำกำไรให้นักลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าซื้อของอีลอน มัสก์ หนึ่งในมหาเศรษฐีโลกผู้เป็นประธานบริษัท Tesla และ SpaceX ยิ่งผลักดันให้ราคาพุ่งขึ้นสูง อย่างไรก็ตามความผันผวนที่มากเกินไปทำให้ Bitcoin ยังไม่เป็นที่ยอมรับของธนาคารกลางหรือรัฐบาลในบางประเทศ
ไตรมาสที่ 2 – กับร่างใหม่ของโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดรวดเร็ว วัคซีนจึงเป็นหนทางเดียวที่จะลดความเสี่ยงได้
-
การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้หลายๆ ประเทศกลับมาพิจารณามาตรการล็อคดาวน์อีกครั้งหลังจากเปิดประเทศได้ไม่กี่เดือนและจำเป็นต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นรายรวมถึงผู้เสียชีวิตเกิน 100 ราย หลายประเทศล้วนสรุปตรงกันว่าการบริหารจัดการที่รวดเร็วและอัตราเร่งการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมเป็นปัจจัยหลักในการรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นความกังวลของนักลงทุนต่อประเด็นสายพันธุ์เดลต้าจึงค่อนข้างต่ำ ภาพรวมตลาดหุ้นโลกยังคงเดินหน้าปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง
-
Bitcoin ราคาร่วงแรง หลังจีนปรามนักลงทุนในประเทศ ทางการจีนไม่สนับสนุนธุรกรรมเกี่ยวกับ Bitcoin ตลอดจนไม่ให้มีการขุดเหรียญเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภาคธุรกิจในประเทศอยู่ในช่วงขาดแคลนพลังงานอีก ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นก็เป็นต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ไตรมาสที่ 3 – การควบคุมจากทางการจีนและวิกฤติหนี้ภาคอสังหาฯ ในจีน
-
GDP ทั่วโลกทยอยเติบโตในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เหตุผลหลักคือบางประเทศได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์เดลต้า แต่สิ่งที่ตลาดจับตามองมากที่สุดนั่นก็คือการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของทางการจีน เช่น การป้องกันข้อมูลที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงออกนอกประเทศจีน การลดการผูกขาดของผู้เล่นรายใหญ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ลุกลามไปถึงขนาดที่มีบางบริษัทต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกในตลาดหุ้นนอกประเทศจีนเลยทีเดียว
-
วิกฤติหนี้ในกลุ่มอสังหาฯ จีน บริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ของจีนอย่าง Evergrande ประกาศว่าไม่สามารถชำระหนี้ที่คงค้างไว้ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหดหาย ยอดหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในจีนปรับเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้เอเซียติดลบหลังจากเป็นภูมิภาคที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในปีก่อนหน้า ล่าสุดทางการจีนทยอยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเช่นการเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น
-
ตลาดหุ้นจีนจึงให้ผลการดำเนินงานที่แย่เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก
ไตรมาสที่ 4 – เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราวอีกแล้ว
-
เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ความกังวลเรื่องเดลต้าลดลงแต่ก็มีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นมา ราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางปรับเพิ่มขึ้นกดดันเงินเฟ้อต่อ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปรยว่าจะใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพิ่มมากขึ้น
-
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนมุมมองโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐฯ ในปีหน้า ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษปรับเพิ่มขึ้นไปล่วงหน้าแล้วในปีนี้
-
แนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังดูดี บริษัทชั้นนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มการทำกำไรที่ดีในปีหน้า ส่งผลให้ภาพรวมตลาดหุ้นยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกได้ต่อ